เหมืองทองอัครา

[สรุปเพิ่มเติม] ทุกประเด็นเหมืองทองอัครา

สรุปมหากาพย์แห่งเหมืองทองคำชาตรี หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ เหมืองทองอัครา

Home / NEWS / [สรุปเพิ่มเติม] ทุกประเด็นเหมืองทองอัครา

ประเด็นน่าสนใจ

  • เหมือนทองคำชาตรี หรือที่รู้จักกันในชื่อ เหมืองทองอัครา ได้มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2535 ต่อเนื่องถึงปี 2538
  • ก่อนเปิดกิจการอย่างเป็นทางการในปี 2544
  • มีการร้องเรียนเหมืองทองอัครา ตั้งแต่ปี 2550 – 2556 โดยชาวบ้านบางส่วนอ้างว่ามีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  • ทางด้านของเหมืองทองอัคราอ้างว่า แท้จริงเป็นความขัดแย้งเรื่องที่ดิน
  • หลังรัฐประหารปี 57 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป
  • คิงส์เกต บริษัทแม่ของ อัครา เข้าหารือเพื่อให้ทางการไทยยกเลิกระงับกิจการรวมถึงเรียกร้องค่าชดเชย แต่ทางการไทยยืนยันจะไม่จ่าย
  • คิงส์เกต ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
  • อนุญาโตตุลาการ นัดหารือครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ย 2562 โดยการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้นคู่กรณียังสามารถหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันได้
ภาพจากกรมทรัพยากรธรณี, 2544

ที่มาที่ไป – มหากาฬเหมืองทองอัครา

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการเหมืองทองอัครา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร มีพื้นที่รวม 3,900 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ โดยดำเนินการกิจการขุดแร่หาทองคำเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2544

ประเด็นเหมืองทองอัคราเป็นกรณีที่เกิดปัญหามาอย่างยาวนานมีการร้องเรียนกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยเป็นการขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้านการทำเหมืองทองคำ โดยอ้างเหตุผลว่ามีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดฝุ่นละอองจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ

โดยตลอดเวลาของการทำเหมืองแร่นั้น มีข้อพิพาท-ร้องเรียน จากชาวบ้านในพื้นที่โดยตลอด ในเรื่องของ สารพิษปนเปื้อนที่มากับดิน น้ำ และอากาศ นอกจากนี้ ยังมีสภาวะเครียดที่เกิดขึ้นจากเสียงของอุตสาหกรรมอีกด้วย

ภาพเหมืองทองอัครา จาก Google map
พ.ศ. 2534 – 2535

กรมทรัพยากรธรณีสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ทองคำหลายแห่ง

พ.ศ. 2535

บริษัท KingsgateConsolidated NL เข้าซื้อกิจการบริษัทไทยโกลด์ฟิลด์ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด

พ.ศ. 2536

บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิศษเพื่อสำรวจเหมืองแร่ทองคำบริเวณรอยต่อจังหวัด พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก จำนวน 14 แปลง เนื้อที่กว่า 1 แสนไร่

พ.ศ. 2538

ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ให้สำรวจแร่ จนกระทั่งพบแหล่งแร่ทองคำในบริเวณเขาโป่ง รอยต่อของตำเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพรชบูรณ์

21 พ.ย. 2541

ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 4 แปลง พื้นที่รวม 1,166 ไร่

25 ม.ค. 2543

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ของโครงการได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแผนและนโยบายสิ่งแวดล้อม

19 มิ.ย. 2543

ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองได้ โดยมีอายุใบอนุญาต 20 ปี ในเนื้อที่เขตโลหกรรมราว 739 ไร่ โดยได้รับอนุญาตประทานบัตรหมายเลข 26910/15365, 26911/15366, 26912/15367 และ 25618/15368

11 ก.ย. 2543

ก็ได้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมจากกรมทรัพยากรธรณี

24 ม.ค. 2544

โครงการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

12 ธ.ค. 2544

ได้ทำพิธีเปิดเหมืองอย่างเป็นทางการ

29 พ.ย. 2550

เอกอัคราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เข้าพบ รมต. อุตหกรรม หารือความคืบหน้าโครงการและคำคอข ทำเหมือนเพิ่มเติม 9 แปลง พร้อมขอสำรวจแร่ทองคำเพิ่มอีก 44 แปลง พท.กว่า 4 แสนไร่ ในจังหวัดเพชรบูรณ์

พ.ศ. 2551

บริษัทอัครา ได้มีการขอขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่และผลิตโลหกรรมเพิ่ม โดยใช้ชื่อ โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ติดกับพื้นที่เดิมทางด้านเหนือ ซึ่งขณะนั้นมีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยและเริ่มมีการคัดค้านการขยายพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งไม่มีการจัดทำ EIA ตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมปี 2535

แต่มีการออกใบอนุญาตให้กับทางบริษัทอัคราไมนิ่งฯ ให้ขยายพื้นที่

พ.ศ. 2552

บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้รับประทานบัตรทำเหมือนแร่ทองคำเพิ่มเติม 5 แปลงอยู่ทางเหนือของเหมืองแรงทาองคำชาตรีเดิม

แผนที่แสดงหมายเลขประทานบัตร ของบมจ.อัครา รีซอร์สเซส
พ.ศ. 2553

มีสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 โดยไม่มีการขออนุญาตและผิดวัตถุประสงค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นจุดที่มีไม่ตรงกับเคยขอไว้ ซึ่งบ่อทิ้งกากแร่แห่งที่ 2 จะต้องอยู่ห่างจากคลอง-ชุมชนอย่างน้อย 1 กม. ตาม EIA ของโครงการ แต่บ่อใหม่ กลับอยู่ห่างจากบ้านประชาชนเพียง 300 ม. เท่านั้น

อีกทั้งบ่อทิ้งกากแร่แห่งที่ 2 ทับเส้นทางสาธารณะ สาย นาตาหวาย-อ่างหิน (บนที่ดินของ บ. สวนสักพัฒนา – นส. 3 ก. เลขที่ 1834)

10 พ.ย. 2553

ประชาชน ต.เขาเจ็ดลูก ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก ให้ดำเนินคดีกับหน่วยงานของรัฐ 5 หน่วยงาน และขอให้เพิกถอนประทานบัตร 5 แปลงแรกของบริษัทฯ ที่ไม่ได้มีการทำ EIA พร้อมยุติการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว

ในคำฟ้องระบุถึงปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ คือ ฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากการะเบิดหินอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม. ทำให้ชาวบ้านป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ น้ำดื่มน้ำใช้ ไม่สามารถใช้ได้ดังเดิม (ปนเปื้อน, ไม่เพียงพอ)

ธ.ค. 2553

กรมอุตสาหกรรม ได้สั่งให้บริษัทฯ หยุดการดำเนินการชั่วคราว เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องเสียงดังและแรงสั่นสะเทือน เนื่องจากการทำเหมืองตลอด 24 ชม. จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงดังจากการขุดเจาะ ระเบิด รวมทั้งให้บริษัท ติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่กรองโลหะหนัก บริเวณบ่อบาดาลของชุมชนใกล้เคียงพื้นที่ของเหมืองทองคำ

พ.ศ. 2554 – 2556

เครือข่ายนักศึกษาได้เข้าศึกษากระบวนการทำเหมืองแร่ และพบว่า มีความไม่ถูกต้องบางอย่างจึงได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวคัดค้าน

27 มี.ค. 2555

ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก อ่านคำพิพากษาคดีดำเลขที่ 228/2553 ให้ถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง และให้มีการรายงานผลกระทบให้เสร็จภายใน 1ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

พ.ค. 2557

ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง เลือด ปัสสาวะ น้ำ ดิน ไปตรวจที่ รพ.รามาธิบดี โดยผลการตรวจเลือดชาวบ้านในเขตพื้นที่เหมืองทองคำชาตรี ราว 738 คน เด็ก 67 คน พบมีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐาน 300 คน จึงมีการเสนอเรื่องไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

ในที่สุดมีคำสั่งจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้อัคราหยุดประกอบกิจการโลหกรรมไว้ชั่วคราว 30 วัน ภายหลังสุ่มตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายของชาวบ้าน

29 พ.ค. 2557

ศาลปกครองพิษณุโลก อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.2/2557 ที่ประชาชนยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ รวมถึงบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ในประเด็นการสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาติ โดยให้มีการหยุดการดำเนินงาน, ห้ามสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 , ให้คืนสภาพทางสาธารณประโยชน์, เพิกถอนการออกโฉนด และให้บรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

10 พ.ค. 2559

คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ยกเลิกประทานบัตรเหมืองแร่ง รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร และการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจเหมืองแร่ทองคำ โดยอ้างอิงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหมืองทองคำชาตรี

12 พ.ค. 2559

บริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้แถลงข่าว ขอให้รัฐหาข้อสรุปและแนวทางแก้ไขตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยขอให้มีการหาข้อเท็จจริงทางด้านผลกระทบให้กระจ่าง และมีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยยินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันความปลอดภัย โดยการนำตัวนาย คมสัน ขวัญแก้ว ชาวบ้าน หมู่ 8 ต.เขาเจ็ดลูก ที่เป็นหัวหน้างานห้องทอง ของบริษัท มาร่วมแถลงข่าย ยืนยันว่า เหมืองมีความปลอดภัย และตนเองได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ หากเหมืองต้องปิดตัว

พ.ศ. 2559

ประชาชนจากบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ เหมืองทองอัครา รวมถึงพนักงานและครอบครัว ประมาณ 5 พันคน ออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร โดยมีเป้าหมายที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเห็นใจจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า

เหมืองทองอัคราจังหวัดพิจิตรมิได้เลวร้ายอย่างที่คิด อีกทั้งอยากชี้แจงว่าถ้าปิดเหมืองทองจะทำให้มีคนตกงานกว่า 2 พันคน

ตารางเกี่ยวกับข้อมูลการผลิต ส่งออก จัดเก็บรายได้จากเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย

ข้อควรรู้

เดิมที่พื้นที่บริเวณนี้ได้มีการสำรวจพื้นที่ และค้นพบแหล่งแร่ทองคำ ซึ่งในระหว่างการสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ นายชาตรี ชัยชนะพูนผล หนึ่งในทีมสำรวจของบริษัทอัคราไมนิ่งฯ ได้เสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จึงได้มีการตั้งชื่อว่า เหมืองทองคำชาตรี เพื่อเป็นเกียรติให้กับนายชาตรี


ใช้ ม.44 ยุติการทำเหมืองถึงสิ้นปี 2559

การโจมตีจากกลุ่มต่างๆ และชาวบ้านที่เผยว่าได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการร้องเรียน คัดค้าน ฟ้องร้องกันมาต่อเนื่อง จนในที่สุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบมติร่วมกันของ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยสั่งยุติการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และการขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ รวมถึงได้มีการออกคำสั่งใช้กฎหมายมาตรา 44 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่

โดยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72/2554

ผลตรวจกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

ในช่วงปี 2560 ได้มีการพูดถึงกรณีการสั่งระงับดำเนินกิจการเหมืองทองอัคราของนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง  ซึ่งปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นเพียงข้ออ้างของคนบางกลุ่มเท่านั้น

ซึ่งแท้จริงสาเหตุความขัดแย้งเป็นเรื่องปัญหาที่ดิน หลังมีบางกลุ่มพยายามเสนอขายที่ดินให้บริษัทในราคาสูงกว่าราคาประเมิน แต่บริษัทไม่สามารถรับซื้อไว้ได้ จึงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2561 ทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทําเหมืองแร่ทองคําของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทําเหมืองแร่ทองคํามีมติว่า

บ่อกักเก็บ กากแร่ที่ 1 (TSF1) มีการรั่วซึม และอาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของโลหะหนัก เพิ่มเติมจากโลหะหนักที่อาจเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติ หลังจากที่ได้มีการรับฟังและพิจารณาจากรายงานผลการศึกษาโครงการ “การสํารวจ ตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1)”

ซึ่งมี ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ เป็นผู้ศึกษาโครงการ โดยผลการศึกษามีข้อบ่งชี้ว่าพบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าแสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทป โดยระบุว่ามีร่องรอยการไหลของน้ำเหมืองจาก บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ไปถึงบ่อสังเกตการณ์ และบริเวณนาข้าวตามที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน

ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ลงพื้นที่ตรวจประชาชนโดยผลการตรวจากแล็ปของ รพ.รามาฯ พบว่า เด็ก 67 คน ผู้ใหญ่ 104 คน มีสารหนูในเลือดสูง ส่วนผลตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า ประชาชน 200 รายมี DNA ผิดปรกติ

นอกจากนี้ข้อมูลการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโลหะหนักในพื้นที่รอบเหมืองแร่ ทองคําของ กพร. ซึ่งใช้ข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินของบริษัท อัคราฯ ในปี 2544 – 2558 ที่คณะทํางานย่อยประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้การรับรองแล้ว

เปรียบเทียบกับข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินช่วงหยุดการประกอบกิจการทําเหมืองและโลหกรรม ในปี 2560 – 2561 ที่บริษัท อัคราฯ รายงานต่อ กพร. พบว่า ภายหลังการ หยุดการทําเหมือง ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 พื้นที่เสี่ยงที่มีการกระจายตัวของ แมงกานีส สารหนู และเหล็ก เพิ่มขึ้นจากปี 2544 – 2558


ปมบ่อกักเก็กกากแร่ 1 และ 2

ตามเอกสารรายงานของกรมทรัพยากรธรณี เมื่อธันวาคม 2544 ได้มีการรายงานถึงผังโครงการ “เหมืองทองคำชาตรี” โดยระบุรายละเอียดของผังบริเวณไว้ในเอกสาร ซึ่งระบุจุดที่ก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ บ่อที่ 1 (TSF1) ไว้ อยู่ทางด้านใต้ของโครงการ และะมีการสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ บ่อที่ 2 ในช่วงปีที่ 6 ของโครงการ ตามแผนการฟื้นฟูหน้าเหมือง ในรายงานมาตรการป้องกัน-แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองชาตรีเหนือ

ภาพจากเอกสารกรมทรัพยากรธรณี แหล่งแร่ทองคำชาตรี บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งจัดทำโดยกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อธันวาคม 2544
ภาพผังโครงการตามแผนการฟื้นฟูในปีที่ 2 แสดงให้เห็นถึงบ่อกักเก็บบ่อที่ 1
ภาพผังบริเวณ ที่ปรากฎบ่อกักเก็บกากแร่ จุดที่ 2 ในแผนฟื้นฟูปีที่ 6 ของโครงการ

ปมปัญหาคือ ในจุดของบ่อกักเก็บกากแร่บ่อที่ 2 ที่ไม่ตรงกับแผนที่เสนอไว้ โดยในจุดนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอแผนใหม่ ให้กับอุตสาหกรรมจังหวัดพิจารณาใหม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิมที่วางไว้

ในจุดนี้เอง นำไปสู่การร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดในเรื่องนี้ ซึ่งผลการสอบสวนที่เกี่ยวข้องจากป.ป.ช. เมื่อ 10 มี.ค. 63 พบว่า

  • พื้นที่บริเวณของการสร้างบ่อกักเก็กกากแร่ บ่อที่ 2 ตามแผนเดิมนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เนื่องจากปัญหาไม่สามารถขอซื้อที่ดินในบริเวณใกล้เคียงได้
  • จึงมีการขอเปลี่ยนจุดเดิม ไปยังจุดใหม่แทน
  • ซึ่งการเปลี่ยนจุด จะต้องมีการทำแผนป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่สอดคล้องฉบับใหม่ไปด้วย
  • นำไปสู่การที่ ป.ป.ช. มีมติว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ
ภาพแผนผังของบ่อกักเก็บกากแร่ ที่มีการเปลี่ยนจุดไปจากแผนเดิม เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของที่ดิน

รู้จัก บริษัท อัครา ไมนิ่ง และ คิงส์เกต

สำหรับบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัดนั้น ปัจจุบันดำเนินการในชื่อ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด โดยประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำ-เงิน โดยเป็นบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ได้รับประทานบัตรพิเศษ ในการสำรวจเหมืองแร่ทองคำในไทยตั้งแต่ปี 2530 และปี 2536 ก็ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือ เหมืองแร่ชาตรี โดยมีการแบ่งเป็น

  • เหมืองแร่ชาตรีใต้ จำนวน 5 แปลง พื้นที่ 1,400 ไร่ ดำเนินการเชิงพานิชย์ ปี 2544
  • เหมืองแร่ชาตรีเหนือ จำนวน 9 แปลง พื้นที่ 2,500 ไร่ ดำเนินการเชิงพานิชย์ ปี 2551

โดยผลการดำเนินการในเชิงพานิชย์นั้น สามารถผลิตทองคำบริสุทธิ์ได้ประมาณปีละ 1.3 แสนออนซ์ (ข้อมูลในปี  2555 ผลิตทองคำได้ราว 3.4 ตัน, ปี 2556 ผลิตได้ 3.5 ตัน) สร้างรายได้ราว 7 พันล้านบาท ซึ่งค่าภาคหลวงนั้น ได้มีการจ่ายให้กับรัฐบาล (ส่วนกลาง, อบต. ในพื้นที่ ฯลฯ) รวมแล้วกว่า 3 พันล้านบาท

ตารางหมายเลขประทานบัตร ของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส

นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนต่างๆ อีกหลายกองทุนได้แก่

  • กองทุนประกันความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม EIA Fund
  • กองทุนอัตราเพื่อชุมชน Akara for Community Fund
  • กองทุนพัฒนาตำบลเขาเจ็ดลูก
  • กองทุนพัฒนาตำบลท้ายดง
  • กองทุนหมู่บ้านเขาดิน
  • กองทุนหมู่บ้านนิคม

รวมทั้งสิ้นกว่า 37 ล้านบาทต่อปี

ประทานบัตรเหมืองทองคำชาตรี ได้รับอนุญาตถึง 2571

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่มีคำแถลงจากท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในวันที่ 10 พ.ค. 2559 กรณีให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัทฯ หยุดดำเนินกิจการเหมืองภายในสิ้นปี 2559 นี้ สร้างความประหลาดใจให้กับบริษัทฯ เป็นอย่างมาก

เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตอยู่จนถึงปี 2571 ซึ่งบริษัทฯ ได้วางแผนการทำเหมืองไว้แล้วจนถึงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มดำเนินกิจการ บริษัทฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่ากิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีแต่อย่างใด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวม ขณะนี้ บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางภาครัฐ ซึ่งอย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะได้ทำการหารือกับที่ปรึกษาด้านกฏหมายเพื่อพิจารณาช่องทางการดำเนินการต่างๆ ตามกฏหมาย

ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฏหมาย และข้อกำหนดทุกอย่างตามกฏหมายแห่งประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อย่างเคร่งครัดเสมอมา

ประเมินว่า เหมืองทองคำชาตรี จะขุดทองได้ 32 ตัน เงิน 98 ตัน

โดยมีรายงานการสำรวจปริมาณแร่ทองคำที่ปะปนอยู่ในหิน พบว่า หากนำมาคัดแยกโลหะ จะได้ทองคำราว 32 ตัน, เงิน 98 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท และ 600 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในการได้มานั้นจะใช้วิธีการทำเหมืองหาบ โดยขุดบ่อเหมืองลึกจากผิวดินลงไปราว 70 เมตร ก่อนนำมาสู่โรงแต่งแร่เพื่อสกัดโลหะทองคำ-เงิน

คดีฟ้องร้องระหว่างคิงส์เกต และ รัฐบาลไทย

ในปี 2560 คิงส์เกต ออกแถลงการณ์ให้ทางการไทยยกเลิกระงับกิจการ รวมถึงเรียกร้องค่าชดเชย ซึ่งทางรัฐบาลไทยยืนยันจะไม่จ่ายค่าชดเชย จึงเป็นเหตุให้ทาง คิงส์เกต ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ ทาฟต้า

ทั้งนี้ต่อมาบริษัท ซูริก ออสเตรเลีย อินชัวรันซ์ ลิมิเต็ด ในฐานะผู้รับประกันภัยให้กับบริษัทคิงส์เกต ได้ยอมรับข้อตกลงการไกล่เกลี่ย เตรียมจ่ายเงินชดเชยจากกรมธรรม์ประกันภัย มูลค่ากว่า 82 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 1,843 ล้านบาท ให้กับทางบริษัทคิงส์เกต จากความเสี่ยงทางการเมือง

ขณะที่การต่อสู้กันในชั้นอนุญาโตตุลาการ  ในวันที่ 19 พ.ย 2562 จะมีการนัดหารือนัดแรกระหว่างบริษัทคิงส์เกตกับรัฐบาลไทย โดยการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้นคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายยังสามารถหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ โดยมีการคาดการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะรู้ผลการพิจารณาภายใน 2 ปี


ปมประชุมสภาฯ 5 มิ.ย. 62

สำหรับการประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. 62 ที่ผ่านมา เพื่อทำการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยก่อนการลงมติได้มีการอภิปรายถึงเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี และมีการหยิบยกประเด็นมหากาฬเหมืองทองอัคราขึ้นมา

โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา สั่งปิดเหมืองทำให้รัฐบาลถูกฟ้องร้องและอาจส่งผลให้แพ้คดีในที่สุด

ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้อภิปรายแย้งว่า การกล่าวของนายสุทินว่ารัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายจากการถูกฟ้อง 4 หมื่นล้านบาทไม่เป็นความจริง ซึ่งถูกฟ้องร้องเพียง 3,000 ล้าน โดยเป็นตัวเลขที่แตกต่างจากที่กล่าว

อีกทั้งรัฐบาลไทยมีโอกาสชนะ เพราะจากการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าบริษัททำผิดเงื่อนไขสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องต้องสั่งปิดเหมือง

สุทิน คลังแสง อภิปรายกรณีเหมืองทองอัครา

ประวัติเหมืองแร่ทองคำในประเทศ

ในประเทศไทยนั้น มีการพบพื้นที่มีศักยภาพในการทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ คือ

  • บริเวณ จ.เลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีน สระแก้ว ชลบุรี และระยอง
  • บริเวณ จ.เชียงราย ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก

ซึ่งมีการค้นพบในช่วงราวปี 2527 ก่อนที่จะมีการเห็นชอบให้มีการทำเหมือนแร่ทองคำขึ้น ในช่วงปี 2530 หลังจากนั้นในช่วงปี 2532 ก็ได้มีการควบคุมการออกอาชญาบัตรฯ ในการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ต่างๆ  จนกระทั่งในปี 2538 – 2542 ก็ได้มีการออกอาชญาบัตรพิเศษให้กับบริษัทต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงบริษัทอังคราไมนิ่งด้วย โดยในปี 2538 พบแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัด พิจิตร-เพชรบูรณ์ 78,257 ไร่ และได้มีการขอประทานบัตรทำเมหือนแร่ทองคำ

โดยในการทำเหมืองแร่ทองคำนั้น รัฐได้ค่าภาคหลวงมากที่สุดคือ 829 ล้านบาท ในปี 2555  ซึ่งในปี2557 นั้นสามารถเก็บได้เพียง 486 ล้านบาทเท่านั้น