ประเด็นน่าสนใจ
- อภิสิทธิ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. หลังพรรคฯมีมติร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ
- ที่ผ่านมาอภิสิทธิ์ มีเส้นทางชีวิตบนถนนสายการเมืองที่ไม่ราบรื่นนัก
- อภิสิทธิ์ต้องเผชิญกับความกดดัน เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองตลอด 2 ปีในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ปี2551-2554)
หากพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ ในตอนนี้ถือว่าน่าสนใจว่าทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ที่น่าจับตาคือการเดินสายทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตหัวหน้าพรรคจะไปในทิศทางไหนหลังจากที่ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“ผมคงไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องประชุมและลงคะแนนที่ฝ่าฝืนมติของพรรคได้ ผมเป็นนักการเมืองที่ได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมทราบว่านักการเมืองที่ดีต้องมีวินัย เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคคือสัญญาประชาคมที่ให้กับผู้คนทั้งประเทศผมขอบคุณเพื่อนสมาชิกประชาธิปัตย์ที่พยายามรักษาเกียรติภูมิให้กับผม ด้วยการให้ผมงดออกเสียง ผมเรียนว่าพรรคไม่มีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิให้ใคร พรรคมีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของพรรคเพื่อรักษาเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมต้องรักษาสจฺจํ เว อมตา วาจา ผมจึงขอลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ถ้อยแถลงแสดงจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 หลังกรรมการบริหารมีมติ ในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
นายอภิสิทธิ นับเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออก ต่อจาก อดีตสมาชิกพรรคอีกหลายคน ที่ได้โพสต์ผ่านแฟนเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้
นั่นหมายความว่า ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในลำดับที่ 21 มี คือ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส. 11 สมัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรียุติธรรมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นมาแทนที่ว่างทันทีแต่ที่น่าสนใจจากนี้ คืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเบอร์1 อย่างนายอภิสิทธิ์ จะเดินหน้าการเมืองอย่างไร
หากไล่เรียงย้อนดู เส้นทางอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 นี้ ชีวิตทางการเมืองในช่วงแรกค่อนข้างสวยหรู แต่ก็ไม่ราบรื่น
หลังจบ ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี
จากภาพลักษณ์นักการเมืองหนุ่มอายุน้อย และร่วมคัดค้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกสุจินดาจึงถูกไว้วางใจเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำในรัฐบาลชวน หลีกภัย ก่อนก้าวสู่หัวหน้าพรรคใน ปี 2548 และก้าวสู่นายกรัฐมนตรีในปี 2551 แต่ก็ต้องเผชิญกับการชุมนุมทางการเมืองตลอด 2 ปี กว่าในการบริหาร จนถูกขนานนามว่ารัฐบาลในค่ายทหาร
กระทั่งหลังการเลือกตั้งปี 2562 ผลการเลือกตั้งชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้ตามเป้า จึงประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคในวันที่ 24 มี.ค. 2562 กระทั่งถึงการแสดงจุดยืนล่าสุดที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันสานงาน ต่อจนต้องยุติบทบาททางการเมืองในสภานี้