ประเด็นน่าสนใจ
- กลุ่มประชาชนผู้รวมตัวกันในนามประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย จัดทำพิธีกรรมกะเหรี่ยง ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง
- พร้อมอ่านแถลงการณ์ภาคี #SAVEบางกลอย กังวลว่าทางรัฐบาลไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 25 ปี
- เรียกร้องให้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบ้านบางกลอยทันที พร้อมยุติดำเนินดีกับตัวแทน 10 คน ที่เข้ายื่นหนังสือถึง ทส.
วันนี้ (16 ก.พ. 63) ที่ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มประชาชนผู้รวมตัวกันในนามประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย รวมทั้งผู้แทนชาวกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน หลังจากมาปักหลักชุมนุมค้างคืน ได้จัดทำพิธีกรรมกะเหรี่ยง ไหว้เจ้าที่เจ้าทาง
ทั้งนี้ บัญชา มุแฮ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ อ่านแถลงการณ์ภาคี #SAVEบางกลอย ฉบับที่ 1 โดยมีเนื้อหาดังนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่พี่น้องกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 36 ครอบครัว ประมาณ 70 คน เดินเท้ากลับใจแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา จนปรากฏข่าวสารการพยายามข่มขู่ คุกคามพี่น้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการสนธิกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทหารทัพพระยาเสือ
การพยายามข่มขู่ว่าจะดำเนินการตามกฎหมายกับชาวบ้าน และสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ปรากฏภาพการสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ และทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจานจากรายงานของชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 12 กุมภาพันธ์นั้น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ตั้งจุดตรวจค้นก่อนเข้าเขตหมู่บ้านบางกลอย
โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านทราบถึงเหตุผล หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านพบว่ามีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันเข้าไปในหมู่บ้าน กระจายกำลังกันดักซุ่มตามเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นและลงจากบ้านบางกลอยล่างไปยังบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ต่อมาประมาณ 18.30 น. ได้รับรายงานว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 นาย เดินเท้าผ่านหมู่บ้านไปยังบริเวณห้วยโป่งลึก หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านได้ยินเสียงปืนประมาณ 3-4 นัด จากทิศทางที่เจ้าหน้าที่เดินเข้าไป
การดำเนินการเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐคือการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ลักษณะไม่ต่างจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินการเช่นนี้อาจนำไปสู่การกระทำอันรุนแรง ทั้งโดยการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น และการสนธิกองกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ความรุนแรงกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ยุทธการตะนาวศรี เมื่อปี 2553-2554
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้แถลงข่าวแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยกลับใจแผ่นดิน ระบุว่า ทส. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อน มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและการถอยคนละก้าว
ยืนยันว่ามีประชาชนเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังเดือดร้อนและไม่พอใจต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา อีกทั้งยังระบุว่าตนรู้สึกสะท้อนใจกับจดหมายที่ภาคประชาชนเขียนถึง ว่าให้คืนความเป็นคนให้กลุ่มชาติพันธุ์ ชี้ว่าผู้เขียนกำลังทำลายความเป็นคน พยายามเสี้ยมให้เกิดความแตกแยก
คำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังแสดงให้เห็นว่า ทส. รับฟังข้อมูลจากฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลและเสียงเรียกร้องจากชาวบ้านบางกลอยและภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมามีความพยายามในการใช้กลไกระดับกระทรวงฯ ร่วมกับภาคประชาชนในการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบอย่างต่อเนื่อง
แต่รัฐมนตรีก็ยังยืนยันจะใช้เพียงข้อมูลจากฝั่งราชการซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ นอกจากนั้นเรายังเห็นว่าการแถลงของรัฐมนตรีเช่นนี้ คือการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐเพิกเฉยต่อความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 25 ปี และให้ท้ายพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน
ผู้แทนชาวบ้านบางกลอย และ ภาคี #SAVEบางกลอย ที่ติดตามส่งกำลังใจในการกลับสู่พื้นที่ดั้งเดิมของพี่น้องบางกลอยมาโดยตลอด ต้องการเห็นการแก้ปัญหาที่ไม่ซ้ำรอยเดิมและไม่เพิ่มปัญหาใหม่ จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจและไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาที่ประชาชนยื่นเสนอ
อีกทั้งผู้ร่วมยื่นหนังสือบางส่วนกลับถูกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาจากสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมในที่สาธารณะโดยผิดกฎหมาย จนเกิดเป็นการประกาศชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์จนถึงวันนี้
โดยวานนี้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ได้ลงมารับหนังสือของกลุ่มผู้แทนชาวบ้านบางกลอย และ ภาคี #SAVEบางกลอย รับปากจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่
- จะถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบ้านบางกลอยทันที
- ให้หยุดการสกัดเส้นทางการขนส่งเสบียงไปช่วยเหลือพี่น้องที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน
- ให้ยุติคดีของสมาชิกภาคี #SAVEบางกลอย จำนวน 10 คน ที่เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางกลอย และพวกเรากลุ่มภาคี #SAVEบางกลอย ยังไม่วางใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 25 ปีนี้ เราจึงจัดทำบันทึกข้อตกลงขึ้นเพื่อให้รัฐบาล ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ และผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย ลงนาม อันประกอบด้วย
- ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ
- นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
- ผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย 6. ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี
เพื่อให้มีแนวทางชัดเจนในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เราเห็นว่าต้องมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้แทนพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยทั้งที่มาเข้าร่วมปักหลักชุมนุมครั้งนี้ และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยล่าง และบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จะสามารถดำเนินวิถีวิตได้อย่างปรกติสุข ปราศจากการข่มขู่ คุกคาม ดำเนินการทางกฎหมาย และใช้ความรุนแรง
โดยพวกเราจะให้เวลาผู้มีรายชื่อลงนามทั้งหมดภายใน 1 ชั่วโมง ให้ทุกท่านมาลงนามต่อหน้าผู้แทนชาวบางกลอยและภาคี #SAVEบางกลอย ณ ที่ชุมนุมแห่งนี้ หากภายในเวลาดังกล่าวท่านไม่สามารถมาลงนามได้ เราจะยกระดับการเคลื่อนไหว แล้วไปตามหาทุกท่านถึงที่ คนต้องเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน
ภาพ : วิชาญ โพธิ