กรมน้ำบาดาล ข่าวทั่วไป น้ำพุโซดา

อธิบดีแถลง น้ำพุโซดา ปลอดภัยไม่มีสารพิษ

ถือเป็นน้ำแร่ที่สามารถใช้บริโภคได้ปลอดภัย

Home / NEWS / อธิบดีแถลง น้ำพุโซดา ปลอดภัยไม่มีสารพิษ

ประเด็นน่าสนใจ

  • ผลการตรวจสอบพบว่า มีความปลอดภัย ใช้บริโภคได้
  • พร้อมนำเครื่องกรองน้ำ มากรองน้ำบาดาลจากแหล่งน้ำบาดาลบ้านทุ่งคูณ และดื่มโชว์

วันนี้ (15 ก.พ.) นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า จากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจและเจาะพบแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แห่ง โดยบ่อน้ำบาดาล 2 แห่ง ที่เจาะพบน้ำบาดาลพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุสูงราว 2-3 เมตร มีรสชาติคล้ายน้ำโซดา สามารถใช้ดื่มกินได้ สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวบ้านและผู้พบเห็นนั้น

ผลการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำบาดาลจากน้ำพุโซดาทั้งในบ่อน้ำบาดาลที่บ้านทุ่งคูณ บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 น้ำบาดาลมีไบคาร์บอเนตสูง 2,420 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1,870 มิลลิกรัมต่อลิตร ฟลูออไรด์สูงเล็กน้อย 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีเหล็กสูง 10 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 28 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ

น้ำน้ำบาดาลจากบ้านทุ่งคูณ มากรอง

ซึ่งน้ำบาดาลจากแหล่งน้ำบาดาลห้วยกระเจา ไม่มีสารพิษ หรือสารปนเปื้อนร้ายแรง และจากการตรวจสอบทั้งสองบ่อพบว่า สามารถพัฒนานำน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 2,400 ลบ.ม. ต่อวัน หรือ ไม่น้อยกว่า 5แสนลบ.ม. ต่อปี

ในการแถลงข่าว ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังได้นำน้ำบาดาลที่เก็บมาจากพื้นที่ ซึ่งมีสีเหลืองขุ่น นำกรองเอาสารแขวนลอย และสารละลายเหล็กออก พร้อมกับให้อธิบดีดื่มให้ดู เพื่อยืนยันว่า น้ำบาดาลจากทั้งสองบ่อนั้น มีความปลอดภัย รับประทานได้ และมีรสหวาน

สำหรับความซ่าที่เกิดขึ้นนั้น เป็นลักษณะของน้ำพุที่เกิดขึ้นจากออกมาจากแหล่งใหม่ ๆ ที่จะมีความซ่าอยู่ แล้วจะค่อยลดลงเมื่อเวลาผ่านไป สามารถนำมาผสมเครื่องดื่มดื่มได้ทันที

อธิบดีกรมน้ำบาดาลดื่มน้ำโชว์

อย่างไรก็ตาม อธิบดีได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป้าหมายตามภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คือ การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งท้ายที่สุดพื้นที่ห้วยกระเจา #กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะทำโครงการศึกษา สำรวจ และพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน เพื่อพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาให้ประชาชนได้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โดยเร่งเจาะอีก 3 บ่อ เพื่อให้ครบทั้ง 6 บ่อ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล