หม่อมปลื้ม หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล

[Exclusive] มุมมองจาก หม่อมปลื้ม หลังไทยมีรัฐบาลใหม่ ได้ บิ๊กตู่ นั่งนายกฯ อีกสมัย

ขณะนี้เรายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทางพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล จะแบ่งกระทรวงกันอย่างไร โดยทาง MThai ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ร้อยตรีหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ คุณปลื้ม จึงได้สอบถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองต่อจากนี้ หลังมีนายกรัฐมนตรีใหม่แต่หน้าแก่อย่าง พล.อ ประยุทธ์ จันทรโอชา …

Home / NEWS / [Exclusive] มุมมองจาก หม่อมปลื้ม หลังไทยมีรัฐบาลใหม่ ได้ บิ๊กตู่ นั่งนายกฯ อีกสมัย

ประเด็นน่าสนใจ

  • แม้ว่าได้รัฐบาลใหม่ แต่หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล  เชื่อว่า ไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก
  • อำนาจการต่อรองของพรรคกลาง-เล็ก นั้นไม่มีจริง
  • เรื่องเศรษฐกิจนั้นต้องดูให้ชัดเจนว่า ธุรกิจด้านใด การสรุปกว้างๆ ว่าดี-ไม่ดีจึงเป็นการสรุปแบบผิวเผินเท่านั้น

ขณะนี้เรายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทางพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล จะแบ่งกระทรวงกันอย่างไร โดยทาง MThai ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ร้อยตรีหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ คุณปลื้ม จึงได้สอบถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองต่อจากนี้ หลังมีนายกรัฐมนตรีใหม่แต่หน้าแก่อย่าง พล.อ ประยุทธ์ จันทรโอชา 

I.

รัฐบาลใหม่ แต่ประเทศไทย ไม่เปลี่ยนแปลง

คุณปลื้ม เผยว่า สถานการณ์ต่อจากนี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ เพราะนายกรัฐมนตรี ก็ยังเป็นคนเดิม สไตล์การบริหารก็ยังเหมือนเดิม บุคลิกภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังจะเป็นเหมือนเดิม

จะมีที่ต่างจากเดิมบ้างก็คงเป็นชื่อของรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ แต่แกนหลักๆ ของรัฐบาล ก็ยังเป็นรัฐบาลจาก คสช. ที่มีมาก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ ประวิตร วงศ์สุวรรณ อาจจะยังเป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคง, ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็คงจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่ากระทรวงเศรษฐกิจอาจจะไปตกหล่นอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ว่ายุทธศาตร์โดยรวมทางด้านเศรษฐกิจก็ยังเป็นทีมเดิม เพราะฉะนั้นหากจะพูดถึงเรื่องการบริหาร แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก

II.

อำนาจต่อรองจากพรรคกลาง-เล็ก ไม่มีอยู่จริง 

อย่าไปจิตนาการว่า พรรคการเมืองขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก จะมีอำนาจต่อรองกับบิ๊กตู่ มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะว่าจุดยืนทางการเมือง ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยชัดเจนมาตั้งนานแล้ว ในกรณีของภูมิใจไทยชัดมาตั้งแต่วันที่กลุ่มเพื่อนเนวินไปจับมือกับอภิสิทธิ์และสุเทพ สลับขั้วในปี 2552

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ชัดเจนตั้งแต่ปี 2549 แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการย้ำจุดยืนเดิมของพรรคขนาดกลางว่า ถึงอย่างไรก็ไม่อยู่ฝั่งทางพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หม่อมปลื้มระบุว่า มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่บิ๊กตู่ จะมานั่งเกรงกลัวต่ออำนาจต่อรอง ซึ่งแท้ที่จริงไม่มี

III.

อำนาจยังอยู่อยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง ผ่านคณะกรรมการร่วม

รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 270 ว่า เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้ชี้นำไปที่ ผู้ซึ่งเป็นประธานรัฐสภา ว่ากฎหมายฉบับใดที่มาจากคณะรัฐมนตรี เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อกับการปฏิรูปประเทศ

ซึ่งผู้ที่แนะนำว่า กฎหมายฉบับใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศคือ คณะรัฐมนตรี  หากคณะรัฐมนตรีผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งไปที่สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีแจ้งว่า กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะเรียกประชุม ไม่ใช่หน้าที่วินิจฉัยแต่คือหน้าที่เรียกประชุม

ตัวอย่างของความไม่เปลี่ยนแปลง

หม่อมปลื้มระบุว่า สมมุติว่ามีกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หากเป็นยุคนี้ เวลา ครม. พิจารณากฎหมาย บ้างอาจจะมาจากหน่วยงานราชการที่ร่างขึ้น องค์กรภาคประชาสังคม หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่กฎหมายทุกฉบับต้องผ่าน ครม.ก่อน หลังจากกฤษฎีกาตรวจเสร็จจะกลับมาที่ครม. ซึ่งในยุครัฐบาล คสช.การที่จะผ่านกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หลังจากผ่านครม.แล้ว ครม.จะต้องส่งไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก็ผ่านค่อนข้างรวดเร็ว

สำหรับ สนช.คือ กลุ่มบุคคลที่ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ เห็นชอบ และกลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา

และหากรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นนี้ ต้องการจะส่งกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งไปที่สภาฯ แต่บังเอิญว่ากฎหมายนั้น ไม่ชัดเจนว่า เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปยุทธศาตร์ชาติหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปประเทศหรือไม่ มันจะมีกระบวนการ การตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมา

ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่า กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องยุทธศาตร์ชาติ เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปประเทศหรือไม่ ประกอบไปด้วย 5 คน ประกอบไปด้วย

  1. ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน
    ซึ่งก็คือ พรเพชร วิชิตชลชัย เคยเป็นอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  2. รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง
    ซึ่งก็คือ นายสุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ
  3. ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
  4. ผู้แทนคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน
  5. ประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเอง
    ระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะเป็นกรรมการ

หากเสียงข้างมากใน 5 คน สรุปออกมาว่า กฎหมายมันเกี่ยวกับการปฏิรูป แปลว่า สมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะสามารถเข้ามาร่วมโหวตได้ตามหน้าที่ หม่อมปลื้มกล่าวว่า แปลว่ากฎหมายฉบับใดที่ รัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ เกรงว่าจะไม่ผ่าน สามารถมีดำริให้ ส.ว. มาร่วมโหวตได้เสมอ ดำริผ่านคณะกรรมการร่วม ก็เพราะว่าตัวแทนเป็นฝ่ายบิ๊กตู่

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 270

 

IV.

เศรษฐกิจต่อจากนี้ อยู่ที่มุมมอง

หม่อมปลื้มกล่าวว่า หลังจากได้รัฐบาลใหม่มาแล้ว ตนคิดว่าสถานการณ์โดยรวมทางด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ มันอยู่ที่ว่าประกอบธุรกิจด้านอะไร ตนคิดว่าที่ผ่านมาเกิดปัญหาในเรื่องของการพยายามที่จะสรุปและอธิบายอย่างผิวเผินว่า เศรษฐกิจไทยมันมีปัญหา ประชาชนยากจน ตนคิดว่านั่นเป็นเพียงคำอธิบายที่ง่ายเกินไป จะใช้ในยุคสมัยไหนก็ได้ เรื่องของเศรษฐกิจ คนยากคนจน มันเป็นปัญหาวาระแห่งชาติภายใต้ทุกรัฐบาล

ตนมองว่า โอกาสในการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมันอยู่ที่ว่าคุณเป็นผู้ประกอบในอุตสาหกรรมประเภทใด ในที่นี้หากนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมา หลังจากเกิดปัญหา 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุเรื่องความเชื่อมั่น ซึ่งนโยบายภาครัฐอาจจะดีก็ได้ในเรื่องการฟื้นคืนความเชื่อมั่น

ยกตัวอย่างหากคุณเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ธุรกิจประเภทนี้อาจจะดีก็ได้

การที่พยายามจะอธิบายโดยรวมว่า เศรษฐกิจมันแย่หรือดี มันเป็นวิธีการอธิบายที่เต็มไปด้วยวาระทางการเมือง คุณไม่ชอบรัฐบาลไหนคุณก็บอกว่าเศรษฐกิจแย่ คุณชอบรัฐบาลไหนคุณก็อาจะบอกว่าเศรษฐกิจดี คุณจะเห็นพฤติกรรมการวิเคราะห์เศรษฐกิจแบบนี้ จากนักการเมืองเยอะ แม้กระทั่งสื่อสารมวลชนและนักวิชาการ

แต่ตนกลับมองว่า ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมันมีทั้งที่ทำออกมาแล้วมีประสิทธิภาพและที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่นหากเป็นชาวสวนยางหรือผู้ที่มีสวนยางอาจจะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะต้องการขายยางในราคาที่สูง

ตนจึงมองว่าการวิเคราะห์ว่าเศรฐกิจดีไม่ดี ควรแยกตามประเภทของธุรกิจนั้นตามข้อมูลที่มี ซึ่งหมายความว่า ควรปรับตัว ให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถอยู่ได้ ในยุคที่นโนบายทางด้านเศรฐกิจ แก้บางเรื่องได้ บางเรื่องไม่ได้ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

V.

ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ในไทย ไม่ใช่ปัญหาของนักลงทุน

นอกจากนี้ ตนคิดว่าเรื่องการลงทุน เรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองยังนิ่งต่อไป ตนคิดว่าคงจะยังมี ตนไม่ได้มองว่านักลงทุนต่างชาติจะมานั่งสนใจว่า นี่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ นั่นเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจอยู่แล้วเกี่ยวกับเมืองไทยว่า มันไม่ได้เคยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์สักเท่าไหร่

เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ปัจจัยที่จะมีผลกระทบในการตัดสินใจของนักลงทุนมากนัก ส่วนใหญ่ต่างประเทศเขาก็ไม่มีปัญหา ตราบใดที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์จากสหรัฐและและอียูก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกบันทึกเทปเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562