จัดตั้งรัฐบาล พลังประชารัฐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ย้อนรอย!! ‘รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ’ กับเสถียรภาพทางการเมือง

‘เสียงปริ่มน้ำ‘ ช่วงนี้เราอาจได้ยินบ่อยมากขึ้น คือคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งแบบเฉียดฉิว หรือเกินแต่ไม่มาก ซึ่งหลังผลการร่วมจัดตั้งรัฐบาลของ 20 พรรคการเมือง นำโดย ‘พรรคพลังประชารัฐ‘ ซึ่งรวมแล้วได้ 253 เสียง หากเทียบกับทางฝั่ง 7 พรรคการเมือง…

Home / NEWS / ย้อนรอย!! ‘รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ’ กับเสถียรภาพทางการเมือง

ประเด็นน่าสนใจ

  • ‘รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ’ คือสภาวะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้น
  • แม้ว่าจะสามารถปฏิบัติง่าย แต่ส่งผลต่อเสถียรภาพในการออกทำงานยิ่งเมื่ออยู่ในวาระที่จะต้องลงมติต่างๆ
  • ในอดีตเคยมีรัฐนาวาล่มเนื่องจากเสียงไม่พอในการลงมติมาก่อนแล้ว

เสียงปริ่มน้ำ‘ ช่วงนี้เราอาจได้ยินบ่อยมากขึ้น คือคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งแบบเฉียดฉิว หรือเกินแต่ไม่มาก ซึ่งหลังผลการร่วมจัดตั้งรัฐบาลของ 20 พรรคการเมือง นำโดย ‘พรรคพลังประชารัฐ‘ ซึ่งรวมแล้วได้ 253 เสียง หากเทียบกับทางฝั่ง 7 พรรคการเมือง ที่ขนานนามตัวเองว่า ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ สามารถรวม ส.ส. ได้ที่ 245 เสียง

หากมองจากตัวเลขที่กล่าวมานั้น ทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างมีคะแนนเสียงที่ ‘ปริ่มน้ำ‘ อย่างมาก ส.ส. ร่วมรัฐบาลต้องห้าม ขาด ลา โดยเด็ดขาด!! ในการลงมติต่างๆ เวลาประชุมสภา ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต

โดยหลังการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งมติในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ด้วยคะแนนโหวต 500 เสียง (จาก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วม 251 เสียง และ ส.ว. 249) กระทั่งนักการเมืองหลายคน รวมถึงนักวิชาการออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘รัฐบาลชุดนี้อาจอยู่ไม่ครบเทอม!!

แล้วยิ่งประเด็นล่าสุดกับกระแสข่าวว่าทางฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มมีการแย่งชิ่งเก้าอี้ ครม. ขึ้น การไม่ลงตัวในการ ‘แบ่งเค้ก‘ กับความไม่ชัดเจนในการแบ่งที่นั่งในการบริหาร อาจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มสั่นคลอนมากยิ่งขึ้น

‘รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ’ จากในอดีตกับเสถียรภาพทางการเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 12 ของประเทศไทย โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ประเด็นสำคัญคือผลการเลือกตั้ง พรรคกิจสังคม มี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่งเท่านั้น แต่สามารถรวบรวม ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ รวม 8 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงสูงสุด มี ส.ส. 74 ที่นั่ง แต่กลับกลายต้องไปเป็นฝ่ายค้านแทน

โดยหลังเลือกตั้งทางพรรคประชาธิปัตย์นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคฯ ได้รับการโปรดเกล้าเป็นนายกยรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคเกษตรสังคม และแนวร่วมสังคมนิยม แต่ได้เสียงสนับสนุนเพียง 103 คน ไม่ถึงครึ่งของสภา โดยรัฐธรรมนูญในสมัยนั้น (ฉบับ พ.ศ.2517) ได้กำหนดไว้ว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี จะต้องได้รับความไว้วางใจจาก ‘สภาผู้แทนราษฎร’

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2518 ในขณะที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ มีมติสนับสนุนเพียง 111 เสียง ถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ม.ร.ว.เสนีย์ และพรรคประชาธิปัตย์ จึงลาออกและสละสิทธิ์การตั้งรัฐบาล

ในช่วงเวลานั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่ง สามารถรวบรวม ส.ส. จากพรรคต่างๆ ได้ 8 พรรค รวมแล้วได้ 135 เสียง ซึ่งถือว่าครึ่งหนึ่งพอดี ต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีเสียงสนับสนุนครึ่งหนึ่งพอดี ทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลในสมัยนั้นต้องเผชิญแรงกดดันอย่างมาก กระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต้องประกาศยุบสภา ซึ่งบริหารประเทศได้เพียง 1 ปี 1 เดือน เท่านั้น เนื่องจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลหันไปเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน เสนอญัตติขอร่วมเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ทิศทางของรัฐบาลชุดใหม่ กับการนั่งนายกฯสมัยที่ 2 ของ ‘บิ๊กตู่’

เมื่อมติประชุมร่วมรัฐสภาโหวตถล่มทลาย 500 เสียงให้ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นั่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย แน่นอนเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ทำให้รัฐบาลชุดนี้ถูกมองว่า ‘สืบทอดอำนาจ คสช.‘ คะแนนความนิยมและภาพลักษณ์ก็ย่อมจะลดลงตามมา ประกอบกับรัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลผสม ก็เหมือนการจับปูใส่กระด้ง การจับมือร่วมกันระหว่าง 20 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่างฝ่ายอยากมีส่วนร่วมในการบริหารงานทั้งสิ้น

ซึ่งจากการคาดการณ์ของหลายๆฝ่าย เชื่อว่าโผ ครม. ของรัฐบาลชุดนี้ จะยังคงเป็น 3 พรรคใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย แน่นอนว่าเก้าอี้รัฐมนตรีที่เราจะเห็นในอนาคตของรัฐบาลชุดนี้ อาจเป็น ‘คนหน้าเดิม

อีกทั้งฝ่ายค้านของทางฝั่งขั้วพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ร่วมถึงพรรคเสรีรวมไทย และอีก 4 พรรคร่วม ก็ประกาศกร้าวว่าพร้อมตรวจสอบการทำงานของ ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ งานนี้จึงบอกได้เลยว่าเป็นงานหิน สำหรับทางฝั่งรัฐบาลไม่ใช่น้อย

และที่สำคัญเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. เสร็จสิ้น บทบาทของ คสช. ก็จะถูกยุติทันที มาตรา 44 ข้อกฎหมายอันเด็ดขาดของ คสช. ก็จะหายไปอำนาจของ ‘บิ๊กตู่’ ก็จะลดลง แน่นอนว่าเมื่อไม่มี มาตรา 44 หรือ ม.44 ที่คนไทยคุ้นเคยดีกับข้อกฎหมายนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา การควบคุมอำนาจต่างๆก็อาจทำได้ยากขึ้น

หากว่ากันตามตรงตอนนี้ ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ เส้นทางอาจไม่ได้โรยด้วยดอกไม้เสียแล้ว ก็ต้องรอดูว่าชายที่ชื่อว่า ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ และพรรคร่วมรัฐบาล จะกู้ศรัทธากลับมาได้หรือไม่? …. จะสะดุดขาตัวเองอย่างที่หลายคนมองไว้ ไม่ว่าจะ 1 ปี 2 ปี 3 ปี หรืออยู่ครบเทอม ก็คงต้องรอดูกันต่อไป