แพทยสภา เห็นชอบเพิ่ม ‘โรคลมชัก’ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตรายต่อการขับรถ หลังกรมการขนส่งทางบกเข้าร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุป
ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบก ได้หารือกับ แพทยสภา เพื่อเพิ่มสภาวะของโรคที่มีความเสี่ยงหรืออันตรายต่อการขับรถเพิ่มอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคผ่าตัดสมอง จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 โรค ได้แก่ โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคเรื้อน พิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ
ขณะนี้ แพทยสภา ได้เห็นชอบให้เพิ่มโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ให้อยู่ในกลุ่มโรคเสี่ยงอันตรายต่อการขับรถแล้ว ยกเว้นแต่ไม่มีอาการชักเกิน 2 ปี ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ส่วนออกใบอนุญาตขับรถรับทราบข้อมูลเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป
ส่วนอีก 3 กลุ่มโรคที่เหลือ คือ โรคเบาหวาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคผ่าตัดสมอง ยังไม่มีข้อสรุป ยังอยู่ระหว่างการหารือกับแพทยสภา เพราะการกำหนดเพิ่มโรคต้องพิจารณาโรคและระดับอาการความรุนแรงของโรคด้วย บางโรคไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะไม่แสดงอาการ
ในแต่ละโรคแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัย ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณานานเกี่ยวกับสภาวะโรคนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนและเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม
สำหรับผู้ที่จะขอใบรับรองแพทย์ เพื่อนำเอกสารไปประกอบการยื่นคำขอรับใบขับขี่ จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง หรือกำหนดขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
-ส่วนที่ 1 ส่วนของผู้ขอรับใบรับรองแพทย์รับรองตนเอง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัดที่สำคัญ ผู้ขอรับใบรับรองแพทย์ต้องลงลายมือชื่อในใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันการให้ข้อมูลว่าถูกต้องตามความจริง
-ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของแพทย์ ในการตรวจรับรองผู้ขอรับใบรับรองแพทย์ว่าไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต จิตฟั่นเฟือน ปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ อาการโรคพิษสุราเรื้อรัง
และอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม รวมทั้งโรคลมชักด้วย