ประเด็นน่าสนใจ
- นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ร้องเรียนเรื่อง 41 ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และได้มีการเปิดเผยเอกสารหนังสือรับรองนิติบุคคลให้แก่สาธารณะ
- ทีมงาน MThai News ได้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด ก่อนนำมาวิเคราะห์ จัดเรียงลำดับความเสี่ยงไว้
- ส.ส. ชื่อดังหลายท่าน “คาดว่า” น่าจะหลุดจากประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้อง
หลังจากที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวถึงประเด็น กรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อ ที่ได้มีการร้องเรียนต่อนายชวน หลีกภัย ไปก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งได้มีการเปิดเอกสารหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
โดยเอกสารที่ทางพรรคอนาคตใหม่ได้เปิดเผยออกมานั้น ทางทีมงาน MThai News จึงได้นำเอกสารมาตรวจสอบเพิ่มเติม ทั้ง 41 คน เพื่อทำประเมินความเสี่ยงในกิจการที่คาดว่า น่าจะเข้าข่ายความผิดตามพรรคอนาคตใหม่ได้ทำการยื่นเรื่องไป อ้างอิงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
รู้จักวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท
ในการจัดตั้งบริษัทนั้น จะต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อประกอบกิจการต่างๆ โดยปรกติแล้ว ในการจดจัดตั้งบริษัทส่วนใหญ่เพื่อทำธุรกิจนั้น หลายแห่งจะเลือกตัวอย่างวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ มีแบบสำเร็จรูปไว้ให้เลือกอยู่ 5 แบบด้วยกัน คือ
- แบบ ว. 1 สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อประกอบพาณิชยกรรม
- แบบ ว. 2 สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจบริการ
- แบบ ว. 3 สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อประกอบอุตสาหกรรม-หัตถกรรม
- แบบ ว. 4 สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อประกอบเกษตรกรรรม
- แบบ ว. 5 สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจสำนักงาน
ผลการจัดเรียงความเสี่ยง 41 ส.ส. ฝั่งรัฐบาล ปมถือหุ้นสื่อฯ
จากการตรวจสอบเอกสารที่ทางพรรคอนาคตใหม่ได้เผยแพร่นั้น มีเอกสารที่เป็นหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งทางทีมงานเอ็มไทยได้ตรวจสอบ คัดแยก ตามประเภทวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัท ของ ส.ส. ทั้ง 41 ราย และได้ทำการคัดแยก แบ่งตามระดับความเสี่ยงพบว่า
กลุ่มที่เสี่ยงน้อยที่สุดจะเป็นกลุ่มที่จดวัตถุประสงค์ ประกอบการค้า – หนังสือพิมพ์ หรือ หนังสือ , และกลุ่มที่จดวัตถุประสงค์เป็นเพื่อ ประกอบการค้ากระดาษ – หนังสือพิมพ์ ซึ่งในกลุ่มนี้มี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ รวมอยู่ด้วย
รองลงมาจะเป็น กลุ่มที่จดวัตถุประสงค์เพื่อ ประกอบกิจการจัดเก็บ รวบรวม จัดพิมพ์ เผยแพร่ข้อมูลสถิติ นั่นเอง
กลุ่มสุดท้ายจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงขึ้นเนื่องจาก ประกอบกิจการโรงพิมพ์ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการพิมพ์และสื่อโดยตรงมากกว่า 2 กลุ่มแรก
*** หมายเหตุ ***
การประเมินนี้ ทางทีมงาน MThai News ประเมินโดยอ้างอิงเอกสารของการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่ทางพรรคอนาคตใหม่ได้มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ รวมกับแนวคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่มีความเกี่ยวข้องกัน
ดังนั้น ผลจากการประเมินนี้ จึงมิใช่คำตัดสินของผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
รู้จัก วัตถุประสงค์ “ประกอบการค้า” หนังสือพิมพ์
วัตถุประสงค์ในข้อนี้ เป็นไปตามแบบ ว. 1 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำหรับบริษัทที่จดจัดตั้งเพื่อประกอบพาณิชยกรรม นั่นเอง โดยอยู่ในข้อที่ 17 ของแบบ ว. 1
ซึ่งในวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนการค้าว่า “ประกอบการค้า” กระดาษ แบบเรียน หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เหล่านี้ อธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายคือ การซื้อมา-ขายไป เช่นการรับหนังสือพิมพ์มาขาย ตามแบบเดียวกับร้านขายของชำ, รับหนังสือมาขาย ซึ่งในกรณีนี้ อาจจะเรียกได้ว่า “มิได้เป็นถือหุ้นสื่อหรือกิจการหนังสือพิมพ์” ตาม รธน. มาตรา 98 แต่อย่างใด
วัตถุประสงค์ “จัดเก็บสถิติ จัดพิมพ์ข้อมูล”
สำหรับวัตถุประสงค์ในข้อนี้ เป็นอีกตามแบบ ว. 2 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อใช้สำหรับบริษัทที่ต้องการจดจัดตั้งเพื่อประกอบธุรกิจบริการ
ซึ่งสำหรับวัตถุประสงค์ในข้อนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับการจัดพิมพ์สื่อ หรือ เอกสารต่างๆ ขึ้นมาอีกเล็กน้อย ทำให้มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นมาจาก การประกอบการค้า หนังสือพิมพ์ในข้อที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์ บริษัท “ประกอบกิจการโรงพิมพ์”
สำหรับวัตถุประสงค์ในข้อนี้ เป็นวัตถุประสงค์ที่อ้างตามแบบ ว.3 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการจดทะเบียนบริษัทเพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
ซึ่งในข้อนี้ มีระดับความเกี่ยวข้องกับการพิมพ์หนังสือพิมพ์ หรือหนังสือต่างๆ สูงขึ้น จึงถือว่ามีความเสี่ยงอยู่
วัตถุประสงค์ อื่นๆ
โดยในการตรวจสอบเอกสารพบว่า ยังมีบางบริษัทที่มีการจดจัดตั้งในรูปแบบที่มีความเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ เช่น บริษัทที่มีนายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐถือหุ้นอยู่ ที่มีระบุในหนังสือรับรองนิติบุคคล ข้อที่ 27 ว่า
ประกอบกิจการให้บริการสื่อสารมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
ซึ่งในประเด็นนี้ ดูจะมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทำให้อาจจะมีความผิดตาม รธน. มาตรา 98 ได้
หรืออีกหนึ่งรายคือ นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่ได้มีการระบุวัตถุประสงค์ว่า มีการให้บริการกิจการ ที่เกี่ยวข้องกับการรับโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทางด้านวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ
รธน. ปี 60 มาตรา 98
ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 98 ได้กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้าม มิให้มีสิทธิ์รับเรื่องตั้งเป็น ส.ส. โดยมีกำหนดไว้ทั้งหมด 18 ข้อด้วยกัน โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนนั้นเป็น ข้อที่ 3 คือ
มาตรา 98
บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร…….
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
…….