ปรับอัตราค่าโดยสาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รถไฟฟ้า

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ร้องนายกฯ คัดค้านการขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ก่อนหน้านี้ทางกรุงเทพมหานคร ประกาศว่าจะขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นสูงสุดไม่เกิน 104 บาท

Home / NEWS / ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ร้องนายกฯ คัดค้านการขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ประเด็นน่าสนใจ

  • ก่อนหน้านี้ทางกรุงเทพมหานคร ประกาศว่าจะขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นสูงสุดไม่เกิน 104 บาท
  • ล่าสุดทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนงสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ชะลอแผนดังกล่าวออกไป
  • พร้อมให้รับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ร่วมทั้งเสียงจากประชาชน

จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ประกาศว่าจะปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) เป็นสูงสุดไม่เกิน 104 บาท (ชั่วคราว) ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป นั้น

วันนี้ ( 8 ก.พ. 64 ) ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค และ กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีการแสดงของกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคด้วยการกินปลาทูและบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปในกิจกรรมดังกล่าว

​ทั้งนี้ องค์กรผู้บริโภคเห็นว่า การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นการออกประกาศโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านจากกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ และองค์กรผู้บริโภค ถึงประเด็นความไม่โปร่งใส ขัดต่อกฎหมาย ไม่เปิดเผยรายละเอียดสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารแพงเกินไปเป็นภาระของผู้บริโภค เร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี ซึ่งจะเป็นสร้างภาระผูกพันต่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานถึง 39 ปี

​อีกทั้งการประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานครโดยไม่รอผลการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี ยังเข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กรุงเทพมหานครต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและกำหนดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสมเป็นธรรมไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค และขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 96 ที่กำหนดให้การอนุมัติขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานครและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย



จากปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาการบริหารงานของกรุงเทพมหานครที่ขาดประสิทธิภาพและหลักธรรมาภิบาลต่อรัฐและประชาชน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้เพิ่มขึ้นอย่างปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเหมาะสมเป็นธรรม

​ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติที่สามารถคลายสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเสนอเร่งด่วนที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

​1. ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอแผนการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยทันที และให้กรุงเทพมหานครหยุดการเรียกเก็บค่าโดยสารในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน เพื่อดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นบริการขนส่งมวลชนได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มขึ้นจากราคาที่ถูกลงในวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน

​2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังความเห็นจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และภาคประชาชนที่ได้ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ อนามัย จากการดำเนินการของรัฐ ตามมาตรา 58 และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ความเห็นชอบ

​3. ขอให้ทบทวนสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคตเพื่อศึกษาผลกระทบและกำหนดแนวทางให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นและเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับคนทุกคน รวมถึงยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย พัฒนาระบบตั๋วร่วมและระบบการเชื่อมโยงบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ

​4. ขอให้กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้

​5. ขอให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ไม่ใช่บริการทางเลือกของผู้บริโภค


ภาพ : วิชาญ โพธิ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา