ประเด็นน่าสนใจ
- คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศกำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม
- สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เห็นว่าเป็นการออกกฎที่ขัดต่อกฎหมายจึงฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศและขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ
- ศาลยกคำร้อง โดยเห็นว่าคดีนี้เกิดจากมีข้อร้องเรียนในเรื่องราคายาและบริการทางการแพทย์สูงเกินจริง การที่คณะกรรมการกลางฯ ออกประกาศจึงชอบด้วยอำนาจหน้าที่
ศาลปกครองยกคำร้อง สมาคมรพ.เอกชน ขอทุเลาควบคุมราคายา-เวชภัณฑ์ โดยเห็นว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว
วันที่ 13 มิ.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2562 ในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.9/2562 ระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ 1 กับพวกรวม 42 คนผู้ฟ้องคดี ขณะที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี
โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศฉบับที่ 1 พ.ศ. 2562 เรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ถึงวันที่ 21 มกราคม 2563 หรือจนกว่าจะมีการออกประกาศฉบับใหม่
โดยประกาศดังกล่าวมีการกำหนดให้สินค้าตามประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้บริการตามประกาศเป็นบริการควบคุม รวมทั้งได้ประกาศกำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม และประกาศกำหนดให้บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นบริการควบคุม
ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เห็นว่าเป็นการออกกฎที่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงฟ้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดังกล่าว เฉพาะข้อ 3 (13) ยารักษาโรค (14) เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
และ (50) บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค พร้อมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำขอของผู้ฟ้องเป็นคำขอทุเลาการบังคับตามกฎที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับได้เมื่อมีองค์ประกอบครบสามประการ คือ ประการแรก กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่สอง การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาคดี จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และประการที่สาม การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองในระหว่างการพิจารณาคดีไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ
เหตุคดีนี้เกิดจากมีข้อร้องเรียนในเรื่องราคายาและบริการทางการแพทย์มีราคาสูงเกินสมควร ซึ่งคณะกรรมการกลางฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการค้าภายในประเทศ จึงกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย และได้ออกประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่มาตรา 9 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
ในชั้นนี้จึงเห็นว่า คณะกรรมการกลางฯ ได้ออกประกาศโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ และเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว ซึ่งในขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องคดีนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการ คณะกรรมการกลางฯ ยังมิได้กำหนดมาตรการในรายละเอียดเรื่องราคาสินค้าหรือบริการดังกล่าวแต่อย่างใดจึงยังไม่มีมาตรการใดๆ มาบังคับกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
กรณีคำขอทุเลาการบังคับตามกฎนี้จึงเป็นคำขอที่ไม่ครบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามกฎพิพาท ตามคำขอของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน