ข่าวสดวันนี้ คสช. จัดระเบียบรถตู้ วินรถตู้

ผู้ประกอบการรถตู้ ตัดพ้อ มาตรการจัดระเบียบ ทำปิดกิจการ

ข้อความจากบริษัทรถตู้ ตัดพ้อ กิจการเจ๊งเพราะ คสช. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา โลกออนไลน์ได้เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อเพจ รถตู้กรุงเทพฯ-หัวหิน – บริษัทจูนแอนด์เจมส์ ทรานสปอร์ต…

Home / NEWS / ผู้ประกอบการรถตู้ ตัดพ้อ มาตรการจัดระเบียบ ทำปิดกิจการ

ประเด็นน่าสนใจ

  • บริษัทรถตู้ โพสต์โวยกิจการเจ๊งเพราะ คสช.
  • ด้านผู้ใช้บริการไม่เห็นด้วย เหตุคนจะเลือกใช้ต้องอยู่ที่บริการ ไม่ใช่นโยบายภาครัฐ
  • มาตรการย้ายจุดจอดรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไป หมอชิต-เอกมัย-สายใต้ เริ่มมาตั้งแต่ 25 ต.ค. 2559
  • นโยบายนี้เป็นการจัดระเบียบรถตู้ กำหนดรับ-ส่ง ที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัย แก้ไขปัญหาจราจร และขจัดผู้มีอิทธิพล

ข้อความจากบริษัทรถตู้ ตัดพ้อ กิจการเจ๊งเพราะ คสช.

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา โลกออนไลน์ได้เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อเพจ รถตู้กรุงเทพฯ-หัวหิน – บริษัทจูนแอนด์เจมส์ ทรานสปอร์ต ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถโดยสารข้ามจังหวัด กรุงเทพฯ-หัวหิน ได้โพสต์ข้อความว่า

บริษัทได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบรถตู้ของ คสช. เป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยอยู่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่พอย้ายให้ไปอยู่ที่ขนส่งสายใต้ กลับมีผู้ใช้บริการน้อย เนื่องจากการคมนาคมยังไม่เชื่อมโยงกัน จนต้องขอยุติกิจการในวันที่ 30 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

ซึ่งเมื่อเรื่องราวดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ทำให้มีคนเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยมีทั้งคนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เกิดขึ้น บ้างก็ว่าเห็นใจเจ้าของกิจการที่ต้องมาพบเจอกับเหตุการณ์ลักษณะนี้จนต้องปิดตัวลง

ขณะเดียวกันได้มีบางส่วนเข้ามาแสดงความเห็นว่า ไม่ควรโทษการจัดระเบียบของ คสช. แต่ควรโทษการให้บริการของตัวเองปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือทัดเทียมกับบริษัทอื่น ไม่ใช่คิดจะหมดก็หมด หรือทิ้งลูกค้าไว้กลางทางเช่นนี้ เพราะหากไม่คิดปรับตัวแก้ไข มัวแต่โทษโน่นนี่นั่นแต่ไม่ดูตัวเอง ไม่สนใจลูกค้า ก็เป็นธรรมดาที่ไม่มีคนใช้บริการจนต้องยุติกิจการลง

ผู้บริหาร ยันมาตการจัดระเบียบรถตู้ กระทบจริง

จากการสอบถาม ไปยังผู้บริหารคิวรถตู้บริษัทจูนแอนด์เจมส์ ทรานสปอร์ต ของผู้สื่อข่าว MThai ได้ความว่า ผู้ประกอบการยอมรับยุติปิดกิจการลงช่วงปลายเดือนนี้จริง โดยให้เหตุผลว่า เพราะรถตู้ของบริษัทฯ จะอายุการใช้งานครบ 10ปี ขนส่งจะไม่ต่อใบอนุญาตขนส่งสาธารณะให้

ทำให้ไม่สามารถวิ่งรถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ตามเดิม จากเดิมที่เคยมีรถตู้วิ่งในคิวกว่า 100 คัน โดยมีจุดหมายปลายทางที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภายหลังจากที่ คสช.ได้จัดระเบียบคิวรถตู้ทั่วประเทศ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องย้ายคิวไปอยู่ปลายทางที่ปิ่นเกล้าแทน

และคิวรถทุกคันต้องมาอยู่รวมกัน ทั้งจุดที่กรุงเทพมหานคร และจุดที่หัวหิน ทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น อีกทั้งลูกค้าลดน้อยลง สุดท้ายจึงไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้

ส่วนข้อความในเฟชบุ๊ก มีพนักงานคนหนึ่งโพสต์ขึ้น ซึ่งภายหลังมีการเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก ต้องรอดูท่าทีจากรัฐบาลก่อน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการรถตู้ทั่วประเทศ

อดีตคนขับรถตู้วิน ชี้ปิดตัวลงเพราะการแข่งขันสูง

พร้อมกันนี้ ผู้สื่อข่าว MThai ได้สัมภาษณ์ นายสุทธิพันธ์ จิตนิยม อดีตคนขับรถตู้บริษัทจูนแอนด์เจมส์ ทรานสปอร์ต เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเคยมีรถตู้เป็นเจ้าของเอง 1 คัน และเอารถตู้เข้าร่วมกับคิวของบริษัทจูนแอนด์เจมส์ ทรานสปอร์ต

ภายหลังมีการจัดระเบียบรถสาธารณะ และมีการย้ายคิวมารวมกัน ทำให้ลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง มองอนาคตว่าไปไม่รอด เพราะมีการแข่งขันที่สูงมาก จึงตัดสินใจขายรถตู้ทิ้ง มาสมัครเป็นพนักงานขับรถรับจ้างขับให้กับคิวอื่นแทน

ไม่ต้องแบกภาระดูแลรถตู้ ไม่ต้องเสี่ยงกับกรณีรถหมดอายุ ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ รถบางคันยังผ่อนไม่หมดแต่อายุครบกำหนดต้องหยุดให้บริการก่อนแล้ว

ยอมรับว่าการจัดระเบียบของ คสช.มีผลต่อผู้ประกอบการ จากเดิมที่แต่ละบริษัทฯ เคยอยู่คิวใครคิวมันตามที่ต่างๆ แต่ไม่ต้องแย่งลูกค้ากับบริษัทอื่น แต่เมื่อถูกจับมารวมกัน ทำให้แต่ละบริษัทฯต้องแย้งลูกค้ากัน เกิดปัญหาขึ้น โดยหลังจากนี้เชื่อว่าจะเกิดปัญหาเวลาถึงเทศกาลวันหยุดยาว ที่จะไม่มีรถวิ่งให้บริการประชาชน หรือรถมีไม่เพียงต่อกับความต้องการ

ย้ายรถตู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ฯ ไปสถานีขนส่งกรุงเทพฯ เพราะมีเหตุผล

การจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ต้องเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่

สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต),สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) และสถานีขนส่งเอกมัย เป็นจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร เป็นไปตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ต้องการให้การดำเนินกิจการรถตู้โดยสารเป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

ที่กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกคัน ต้องใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารเป็นต้นทางและปลายทาง โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลบริหารจัดการ ไม่ใช่คิดจะกำหนดรับส่งกันที่ไหนก็ได้ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชน

บริหารจัดการตารางการเดินรถ ควบคุมอัตราค่าโดยสาร การเรียกเก็บค่าโดยสาร แก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เขตเมืองของกรุงเทพฯ รวมถึงยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐาน สร้างความพึงพอใจและเชื่อมั่นในการเดินทางได้

เพราะก่อนที่จะมีการจัดระเบียบ ได้มีรถตู้ที่ไม่มีใบอนุญาตวิ่งให้บริการเป็นจำนวนมาก รวมถึงรถตู้โดยสารได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง จนสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ก่อนที่ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ให้คำนิยามว่า

การเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่ารถบัสชั้นเดียว ถึงสองเท่า เนื่องจากเมื่อช่วงปี 2558 ก่อนการจัดระเบียบ อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากรถตู้รวมทุกประเภทเกิดขึ้นถึง 98 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตไป 104 ราย และบาดเจ็บถึง 847 คน

เมื่อยังไม่ชิน ก็มีบ่นกันหน่อย

หลังการประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาบังคับใช้ แรกเริ่มก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการ โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารและผู้โดยสารจำนวนมากเกิดความเดือดร้อนและเสียหายในการใช้รถตู้ในการสัญจรในชีวิตประจำวัน

อาทิ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดสภาวะขาดทุน ถูกยึดรถ เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว หมดช่องทางประกอบสัมมาชีพ บางรายต้องเลิกกิจการไปในที่สุด ส่วนประชาชนหรือผู้โดยสารต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้เกิดขึ้นกับต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการต่อรถอีกหลายทอดเพื่อไปขึ้น-ลงรถยังสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารรถตู้แห่งใหม่ตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นใหม่

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านเข้าสู่ปีที่ 5 ปัญหาต่างๆ ก็ดูจะทุเลาลดลงไป เพราะประชาชนเข้าใจ จนสามารถปรับตัวในการเดินทางได้ จนกระทั่งมีข่าวเจ้าของกิจการรถตู้ ออกมาตัดพ้อ โพสต์น้อยใจว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จนเกิดเป็นกระแสขึ้นอีกครั้ง

มาตการนี้หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิด

สำหรับผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่นำรถตู้เข้าใช้สถานีทั้ง 3 แห่ง ถือว่ามีความผิดทั้งพนักงานขับรถและผู้ประกอบการขนส่ง โดยกรมขนส่งทางบกจะดำเนินการลงโทษสูงสุดตามกฎหมายทุกกรณี

โดยมีโทษสูงสุดคือ  พนักงานขับรถปรับ 5,000-20,000 บาท ผู้ประกอบการปรับสูงสุด 50,000 บาท  และการพิจารณาเพิกถอนรถออกจากบัญชีประกอบการและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการเดินรถ หากมีการทำผิดซ้ำซากจากในกรณีดังกล่าว

อ่านข่าว รัฐบาลแจง รัฐบาลแจงจัดระเบียบรถตู้เพื่อประโยชน์ผู้โดยสาร