ทนายเดชา แนะ สิ่งที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจทำประกันฯ หลังมีผู้อ้างว่าถูกยกเลิกจากสาเหตุเคลมประกันเยอะไป
หลังจากที่มีการแชร์เรื่องราวของการทำประกันสุขภาพแล้วถูกยกเลิก โดยอ้างว่าถูกยกเลิกจากสาเหตุเคลมประกันเยอะไป ซึ่งภายหลังก็ได้มีการลบโพสต์ดังกล่าวออกไป และมีการชี้แจงจากทางฝั่งบริษัทประกัน โดยนักกฎหมายและเครือข่ายผู้บริโภค ได้เผยถึงสิ่งที่ควรรู้ก่อนการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ
โพสต์ที่หญิงสาวผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์รูปภาพที่เป็นเอกสารในการแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย และข้อความที่อ้างว่าตัวแทนบริษัทประกันภัยแจ้งยกเลิกเนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ทำประกันจำนวนหลายครั้ง
ซึ่งภายหลังทางบริษัทประกันได้มีการออกเอกสารชี้แจงว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ และมีอายุสัญญา 1 ปี ซึ่งสามารถพิจารณาการต่ออายุสัญญาในแต่ละปีได้ จึงได้ติดต่อนัดหมายเพื่ออธิบายเหตุผล ให้ผู้ทำประกันได้ทราบข้อเท็จจริง
ด้านนักกฎหมาย เจ้าของเพจทนายคลายทุกข์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของสัญญากรมธรรม์เพิ่มเติมที่กำหนดระยะสิ้นสุดเพียง 1 ปี และต้องมีการทำสัญญาใหม่ มีมีข้อตกลงที่ตรงกัน โดยบริษัทประกันจะต่อสัญญาหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวแทนฯ จะต้องมีการอธิบายให้กับผู้ทำประกันอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ก่อนการทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพสิ่งที่ ผู้ทำประกันจะต้องคำนึงก่อนการทำประกัน ประกอบด้วย 1.เบี้ยประกันภัยที่เป็นรายจ่ายระยะยาว ว่าสอดคล้องกับรายได้หรือไม่ 2.การคุ้มครองหลักด้านสุขภาพเหมาะสมกับผู้ประกันหรือไม่ 3.ต้องมีการซื้อสัญญาเพิ่มเติมหรือไม่ 4.สิ่งใดที่เป็นข้อยกเว้นในการคุ้มครองบ้าง และ 5. ต้องไม่ปกปิดโรคที่เป็นสิ่งต้องห้ามในการทำประกัน อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหืดหอบ เป็นต้น
ด้านนางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยถึงกรณีพบผู้บริโภคหลายรายมักมีปัญหาหลังจากตัดสินใจทำประกันไปแล้ว โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคอาจจะไม่ได้ศึกษารายละเอียดของสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ และส่วนหนึ่งอาจมาจากกลโกงของบริษัทประกันเอง
หากเป็นเช่นนี้ บริษัทประกันควรพิจารณาเนื้อหาที่เผยแพร่โฆษณาเพื่อหวังให้ประชาชนมาซื้อประกันด้วย ว่าเหมาะสมและชัดเจนมากน้อยเพียงใด พร้อมเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. พิจารณาขยายระยะเวลาการต่อสัญญาประกันภัยของทุกบริษัท จากปีต่อปี เป็นอย่างน้อย 3 ปี