ข่าวต่างประเทศ จีน อีคอมเมิร์ซ

‘มือถือ-อีคอมเมิร์ซ’ เครื่องมือสำคัญของ ‘ชาวบ้านในชนบทจีน’ แก้จน

จีนระบุ มือถือ อีคอมเมิร์ซ คือกุญแจหลักของการเกษตร และการค้าออนไลน์ เพื่อการแก้จน

Home / NEWS / ‘มือถือ-อีคอมเมิร์ซ’ เครื่องมือสำคัญของ ‘ชาวบ้านในชนบทจีน’ แก้จน

รายงานว่าด้วยการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของจีน ซึ่งเผยแพร่โดยศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศจีน (CNNIC) เมื่อวันพุธ (3 ก.พ.) ระบุว่าสำหรับประชาชนในชนบทของจีน โทรศัพท์มือถือได้กลายมาเป็นเครื่องมือการเกษตรแบบใหม่ และอีคอมเมิร์ซก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานเกษตร สืบเนื่องจากการขายสินค้าออนไลน์นั้นเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการแก้จน

รายงานระบุว่า นับจนถึงสิ้นปี 2020 อำเภอยากจนระดับชาติทั้งหมด 832 แห่งของจีน ล้วนมีการใช้งานอีคอมเมิร์ซ โดยยอดค้าปลีกออนไลน์ในเขตชนบทของปี 2020 อยู่ที่ 1.79 ล้านล้านหยวน (ราว 8.32 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ซึ่งอยู่ที่ 1.8 แสนล้านหยวน (ราว 8.37 แสนล้านบาท)

รูปแบบใหม่ๆ ของการซื้อสินค้าชนบทผ่านทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการไลฟ์สตรีมและอีคอมเมิร์ซ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภค แต่ยังส่งเสริมยอดขายสินค้าเกษตรคุณภาพสูงในเขตชนบทอีกด้วย

ด้วยความพยายามของรัฐบาลในการขยายความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตในเขตชนบทช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชากรที่อาศัยในหมู่บ้านยากจนร้อยละ 98 ของจีน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลไฟเบอร์-ออบติกได้ภายในสิ้นปี 2020 เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 70 ราวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

นับจนถึงเดือนธันวาคม 2020 ประชาชนราว 309 ล้านคน หรือร้อยละ 31.3 ของจำนวนประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตของจีน อาศัยอยู่ในเขตชนบทซึ่งมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 56

เทศกาลสตรอว์เบอร์รีออนไลน์

เทียนจินจัด ‘เก็บสตรอว์เบอร์รีออนไลน์’ กระตุ้นอุตสาหกรรมชนบท

เทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีนจัดเทศกาลสตรอว์เบอร์รีออนไลน์ครั้งที่ 9 บนถนนฮั่นกูในเขตใหม่ปินไห่ เมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) ที่ผ่านมา

เทศกาลดังกล่าวจัดหาและจำหน่ายสตรอว์เบอร์รีจากช่องทางออนไลน์เป็นหลักในปีนี้ เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

เหล่าผู้จัดการบนถนนฮั่นกูสร้างร้านค้าออนไลน์เพื่อปรับปรุงยอดขาย อีกทั้งสำรวจแนวทางใหม่ในการเชื่อมต่อกับซูเปอร์มาร์เก็ตและบริษัทการเกษตร

นอกจากนั้นผู้ผลิตท้องถิ่นยังสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง โดยขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฮั่นกู หมากู่ สตรอว์เบอร์รี” เพื่อช่วยเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกรด้วย