รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 60 แก้รัฐธรรมนูญ 60

เปิดกระบวนการ การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

อีกหนึ่งประเด็นทางการเมืองที่มักจะถูกพูดถึงเสนอทั้งก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ที่หลายพรรคการเมืองมองว่า ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง และในอีกหลายๆปัจจัย ทีมข่าวโมโน29 ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการถึงกระบวนการการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าจะสามารถเสนอได้โดยใครบ้าง และมีขั้นตอนอย่างไร ดร.สติธร ธนานิธิโชติ…

Home / NEWS / เปิดกระบวนการ การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ประเด็นน่าสนใจ

  • การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มี 4 ช่องทางจาก 4 กลุ่ม ที่สามารถเสอได้คือคณะรัฐมนตรี,ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ,(ส.ส.และส.ว.รวมกัน) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ร่วมเข้าชื่อ
  • รัฐสภาจะทำการพิจารณา 3 วาระ

อีกหนึ่งประเด็นทางการเมืองที่มักจะถูกพูดถึงเสนอทั้งก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ที่หลายพรรคการเมืองมองว่า ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง และในอีกหลายๆปัจจัย

ทีมข่าวโมโน29 ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการถึงกระบวนการการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าจะสามารถเสนอได้โดยใครบ้าง และมีขั้นตอนอย่างไร

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกระบวนการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่า มี 4 ช่องทางจาก 4 กลุ่มหลักในการเสนอการแก้ไข คือ 1. คณะรัฐมนตรี / 2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 /

3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา และ 4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ร่วมเข้าชื่อ

โดยการพิจารณานั้น ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ด้วยกัน คือ

วาระที่ 1 ในขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 

วาระที่ 2 เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยยึดเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน

จึงจะสามารถเข้าวาระที่ 3 ได้ และวาระที่ 3 เป็นขั้นตอนสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ทั้งนี้ ดร. สติธรได้ยกตัวอย่าง กรณีที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการจะเสนอญัตติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การจะเสนอรัฐญัตติสู่ที่ประชุมรัฐสภาต้องมีการเห็นพ้องต้องกัน ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ส.ว.และกลุ่มฝ่ายค้าน ถึงจะผ่านวาระที่ 1 2 และ 3 ไปได้

ส่วนการปรับแก้ในมาตราอื่นๆ จากหลายพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่านค้านที่น่าหยิบยกมาแน่ๆ คือ ระบบการเลือกตั้ง อาจจะมีการเสนอให้เปลี่ยนปรับปรุงใหม่ทั้งระบบ หรือ เพียงเฉพาะวิธีการคำนวณคะแนน คงต้องติดตามต่อหลังการประชุมสภาในครั้งต่อๆไป ว่าจะมีการเสนอในเรื่องนี้หรือไม่