ประเด็นน่าสนใจ
- มีกระแสข่าวคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. มีกระบวนการไม่โปร่งใส โดยมีการเรียกร้องให้เปิดรายละเอียดของการสรรหาสู่สังคม
- ร.ท.หญิง สุณิสา จี้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบเรื่องรายละเอียดของการสรรหา ส.ว. เนื่องจากมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง
‘หมวดเจี๊ยบ’ ชี้ กระบวนการแต่งตั้ง ส.ว. ไม่โปร่งใสทุกขั้นตอน จี้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ตอบสังคม ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการแต่งตั้ง
วันนี้ (17 มิ.ย. 62) ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. โดยกล่าวว่า ตอนคัดเลือก ส.ว.สรรหาทำไมถึงบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของ ค.ส.ช. แต่เมื่อจะใช้ตำแหน่ง ส.ว.สรรหาเป็นเครื่องมือทางการเมือง มักจะอ้างว่าได้อำนาจมาจากการลงมติของประชาชน
ทั้งนี้นาย วิษณุ เครืองาม ไม่ควรพูดว่าการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพราะกระบวนการสรรหา ส.ว. เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ และที่มาของอำนาจ ส.ว.สรรหา ก็ได้มาเพราะอ้างประชาชนบังหน้า
เวลา ส.ว. สรรหา จะดำเนินการต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่ ก็ต้องอ้างว่ากระทำโดยอาศัยอำนาจของประชาชน ดังนั้นประชาชนย่อมต้องมีส่วนได้ส่วนเสียกับกระบวนการสรรหา ส.ว. ด้วย
จะเห็นว่าเวลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรอบสองของตัวเอง ก็จะอ้างว่า ส.ว.สรรหาต่างพร้อมใจกันโหวตให้กับตนเอง และถือเป็นตัวแทนประชาชนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอ้างว่าได้อำนาจมาจากการลงมติของประชาชนตอนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ
แต่พอประชาชนอยากรู้รายละเอียดของการสรรหา ส.ว กลับบอกว่าไม่เกี่ยวกับประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของ ค.ส.ช. ทั้งที่กระบวนการสรรหา ส.ว. นั้นก็ใช้เงินจากภาษีของประชาชน
และใครที่ได้ตำแหน่งเป็น ส.ว.สรรหาแล้ว ก็ต้องรับเงินเดือนจากประชาชนอีก แล้วจะบอกไม่เกี่ยวกับประชาชนได้อย่างไร ไม่เห็นพูดเหมือนตอนที่ใช้ตำแหน่ง ส.ว.สรรหา เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง ที่ชอบอ้างถึงความเป็นตัวแทนประชาชนทั้งที่ จริงๆ แล้วก็เป็นแค่ตัวแทนประชาชนแบบจอมปลอมด้วยซ้ำ แบบนี้มันคือการพูดเอาแต่ได้และสะท้อนความไร้ธรรมาภิบาลของกระบวนการสรรหาวุฒิสมาชิก
อันที่จริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการแต่งตั้งคณะกรรมการ สรรหา ส.ว.ตามคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 แล้วทำไมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ส.ว จึงมีแต่กลุ่มผลประโยชน์ของทหารที่กระทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ ม.269 (1) กำหนดว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แล้วคณะกรรมการสรรหาฯ เหล่านี้มีความเป็นกลางตรงไหน
ล้วนแต่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองและมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นตัวแทนของคนหลากหลายอาชีพ ทั้งยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน จะเห็นว่ากรรมการสรรหา 10 คน ได้กลับมาเป็น ส.ว. ถึง 6 คน รวมทั้ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ด้วย
ส่วนกรรมการสรรหาที่ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ก็ยังได้เก้าอี้ ส.ว.สรรหามาสมนาคุณให้ญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกันอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมรับไม่ได้ แถมยังเป็นการหลอกให้ความหวังประชาชนที่มาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ทั่วประเทศ ทำไมต้องไปหลอกให้เขา เสียเวลาเดินทางมายื่นใบสมัคร แต่สุดท้ายแล้วกระบวนการสรรหาก็ไม่ได้โปร่งใส
แถมยังใช้งบประมาณแผ่นดินถึง 1,300 ล้านบาท แต่กลับดำเนินการแต่งตั้งแบบไม่โปร่งใสทุกขั้นตอน ไม่สามารถแจกแจงได้ว่า ส.ว สรรหามีสัดส่วนอาชีพจากกลุ่มใดบ้าง และใช้หลักเกณฑ์ในการเลือกอย่างไร แถมล่าสุดยังโดนรัฐบาลพูดตอกหน้าใส่อีกว่า การเลือก ส.ว.สรรหา ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน ทั้งที่เป็นเรื่องที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสีย