ประเด็นน่าสนใจ
- การประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกงเลยทีเดียว
- การประท้วงเริ่มจากประเด็นข้อกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไต้หวัน-ฮ่องกง
- ผู้ประท้วงกังวลกับการส่งตัว “ผู้ร้าย” ว่าแท้จริงแล้ว เป็นอาชญากร หรือ ผู้ที่ทางการจีนหมายหัว
- ปัญหาสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องหาในจีนมีความไม่โปร่งใส
- ท่าทีของจีนกับสหรัฐฯ ท่ามกลางสภาวะสงครามการค้าที่ระอุขึ้น ส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุนชาวต่างชาติในฮ่องกง
- ชาวฮ่องกงเองก็มีความกังวลใจต่ออนาคตข้างหน้าในปี 2047 อีกด้วย เมื่อจีนจะเข้ามาบริหารฮ่องกงแบบเต็ม 100%
ผ่านมาหลายวันแล้วกับการประท้วงครั้งใหญ่ ที่อาจจะเรียกได้ว่า กลายเป็นการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ฮ่องกงเลยก็ว่าได้ หลังจากในช่วงอาทิตย์นี้ ถนนหลายสายของฮ่องกงคราคร่ำไปด้วยกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกได้ว่า กลายเป็น “ทะเลมนุษย์”
ชนวนเหตุของการประท้วง
ในการประท้วงในครั้งนี้เกิดจาก กรณีคดีฆาตรกรรมที่คนร้ายเป็นชาวฮ่องกง ถูกกล่าวหาว่าได้ลวงแฟนสาวที่กำลังตั้งท้องไปฆ่าที่ฝั่งไต้หวัน ก่อนหนีกลับมายังฮ่องกงอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งทางการไต้หวันได้ยื่นขอให้มีการส่งตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดีในไต้หวัน แต่ด้วยเหตุที่ ฮ่องกง และไต้หวันนั้น ไม่เคยมีกฎหมาย-ข้อตกลงดังกล่าวมาก่อน จึงได้มีการหยิบยกประเด็นข้อกฎหมายนี้ขึ้นมาสู่สภาฯ
โดยระบุว่า เพื่อความประโยชน์ในด้านการดำเนินคดีต่างๆ ระหว่างไต้หวันและฮ่องกง ในการร่วมกับลดปัญหาอาชญกรรมและการกระทำผิดต่างๆ ซึ่งจะเป็นการควบคุมจำนวนคดีที่เกิดจากการหนีข้ามไปมาของผู้ต้องหาในคดีต่างๆ ระหว่างไต้หวันและฮ่องกงด้วย
1 ประเทศ 2 ระบบ
ฮ่องกง ถูกระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน หลังจากที่อังกฤษได้มีการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายปีที่ผ่านมา โดยจีนยังคงให้สิทธิในการดำเนินการต่างๆ แก่ฮ่องกง ในฐานะเขตการปกครองพิเศษ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต่างรู้สึกไม่พอใจ และไม่สบายใจกับการแสดงท่าทีของจีน
ทำให้การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างไต้หวันและฮ่องกง กลายเป็นประเด็นลุกลามที่มีจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง
อีกทั้งยังมีความกดดันจากภายในของชาวฮ่องกงเองอีกด้วยเนื่องจาก สิทธิ์ในการบริหารต่างๆ ของฮ่องกง ที่จีนอนุญาตให้ดำเนินการในปัจจุบันนี้ จะสิ้นสุดลงในปี 2047 ซึ่งหลังจากนั้น จีนจะเข้ามาดูแลอย่างเต็มตัว ชาวฮ่องกงเองดูจะไม่ค่อยปลื้มกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 28 ปีข้างหน้านี้
จีน ฮ่องกง และสงครามการค้า
ความฝ่ายกังวลกับมาตรการทางกฎหมายของจีน ที่ไม่ได้มีการคุ้มครองหรือให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาเช่นเดียวกับฮ่องกง อีกทั้งยังมีข้อกังขาที่เกิดขึ้นด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับสิทธิมนุษยชนของชาวฮ่องกง รวมไปถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในฮ่องกงด้วยหรือไม่ คำตอบเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน
ท่ามกลางสถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐฯ ยังคงร้อนระอุ จึงทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกง ยิ่งเกิดความกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก หากกฎหมายนี้ผ่านออกมา จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับนักธุรกิจต่างชาติบ้าง ที่ยังคงไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ของจีน-สหรัฐฯ ยังคงความอึมครึมเข้าใส่กัน สลับกับการมีปัญหากระทบกระทั่งกันดังเช่นที่เกิดขึ้นกับ หัวเว่ย ในช่วงที่ผ่านมา
โดยจีนเองก็พยายามเข้ามามีบทบาทในฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายกังวลต่อท่าทีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ
ข้อกังวลของผู้ประท้วงต่อกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับนี้
กลุ่มผู้ประท้วงเชื่อว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้จะทำให้
- อนุญาตให้จีนแผ่นดินใหญ่ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองกับจีนแผ่นดินใหญ่
- อนุญาตให้ไต้หวัน-มาเก๊า ร้องขอตัวใครก็ได้ โดยตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการก่อคดีในพื้นที่ของไต้หวัน-มาเก๊า (ซึ่งผู้ประท้วงกังวลว่า อาจจะหมายถึงผู้ที่เป็นผู้ต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง)
- อนุญาตให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัย-อาชญากร ไปยังแผ่นดินใหญ่โดยผ่านกฎหมายนี้ (จีน > ไต้หวัน > ฮ่องกง)
- ไม่มีการรับรองว่าจะได้รับความเป็นธรรมในการตั้งข้อกล่าวหา – ขั้นตอนการดำเนินคดี
- ผู้ที่ถูกทางการจีนหมายหัวไว้ อาจจะโดนตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ได้รับการดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานด้านสังคม มนุษย์ธรรม สื่อมวลชน ฯลฯ
ดังนั้นหากจะเข้าใจความคิดของชาวฮ่องกงแล้ว คนไทยอย่างเราคงต้องนึกถึงตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ร่างกฎหมายขึ้นมาสักฉบับ โดยอ้างว่า เพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหลายครั้งก็เกิดข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้ว กฎหมายเหล่านั้นร่างขึ้นเพื่อความมั่นคงของประเทศหรือของใครกันแน่
เหตุการณ์นี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร?
จากแนวโน้มในช่วงหลายวันที่ผ่านมาพบว่า ทางการฮ่องกงได้โอนอ่อนต่อกระแสคัดค้านที่เกิดขึ้น ในหลายๆ เรื่องด้วยกันตั้งแต่มีการเพิ่มข้อกำหนดในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยจะอนุญาตเฉพาะคดีที่มีความร้ายแรง และอัตราโทษสูงๆ เท่านั้น
ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการถอนกฎหมายดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่กลุ่มผู้ประท้วงเองก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิมคือ “ต้องยกเลิกกฎหมาย” ดังกล่าว และ ให้ แคร์รี่ แลม ลงจากตำแหน่ง
>> ผู้นำฮ่องกง ออกแถลงการณ์ขอโทษกลุ่มผู้ประท้วง
ดังนั้นสถานการณ์ของการประท้วงน่าจะยังคงดำเนินต่อเนื่องอีกหลายวัน จนกว่าจะมีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งในวันนี้ ทางการได้มีการปล่อยตัว โจซัว หว่อง แกนนำนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยคนสำคัญคนหนึ่งของฮ่องกงออกมาอีกด้วย และแทบจะทันทีที่ หว่อง ได้รับอิสระก็ได้ทวีตข้อความว่า
ดังนั้นสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อว่าเรื่องนี้ ท้ายที่สุดแล้วจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร และในอนาคต จีนจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองอันเสรีของฮ่องกงได้หรือไม่
เป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่งนัก