ข่าวต่างประเทศ คอรัปชั่น จีน ประหารชีวิต รับสินบน

จีนประหารอดีตประธาน ‘หัวหรง’ ก่อทุจริตสูงสุดในประวัติศาสตร์

โดยศาลไม่รับคำอุทธรณ์ / ลดโทษ ระบุความผิดสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

Home / NEWS / จีนประหารอดีตประธาน ‘หัวหรง’ ก่อทุจริตสูงสุดในประวัติศาสตร์

ประเด็นน่าสนใจ

  • จีนประหาร นาย ล่ายเสี่ยวหมิน อดีตประธานบริษัทการเงินของรัฐ
  • หลังพบการทุจริต คอรัปชั่น โดยการเก็บเงินสินบนมากกว่า 8.2 พันล้านบาท
  • นำไปสู่การตัดสินประหารชีวิต โดยไม่ลดหย่อนโทษ เนื่องจากความเสียหายเกิดขึ้นอย่างมาก
  • นอกจากนี้ แม้ว่านายล่าย จะได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อศาลแล้วก็ตาม แต่ศาลปฎิเสธการยื่นอุทธรณ์

เมื่อวันศุกร์ (29 ม.ค.) จีนประหารอดีตผู้บริหารบริษัทการเงินของรัฐ ซึ่งก่อเหตุทุจริตที่มีมูลค่าความผิดสูงสุดในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC)

ล่ายเสี่ยวหมิน ได้รับเงินสินบนรวมกว่า 1.78 พันล้านหยวน (ราว 8.24 พันล้านบาท) ถูกประหารด้วยอำนาจศาลประชาชนชั้นกลางแห่งที่ 2 ประจำเทศบาลนครเทียนจินภายใต้การอนุมัติจากศาลสูงสุด

ล่าย ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการบริษัท การจัดการทรัพย์สินหัวหรงแห่งประเทศจีน จำกัด (China Huarong Asset Management) ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตเมื่อวันที่ 5 ม.ค. จากความผิดเกี่ยวกับสินบน ยักยอกทรัพย์ และสมรสซ้อน รวมถึงถูกริบสิทธิทางการเมืองและทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมด

รายงานระบุว่าล่ายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาข้างต้นแต่ศาลประชาชนชั้นสูงประจำเทศบาลนครเทียนจินปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวในวันที่ 21 ม.ค.

ศาลประชาชนสูงสุด (SPC) ได้พิจารณาคดีความของล่าย ชี้ว่าล่ายก่ออาชญากรรมหนักเมื่อคำนึงถึงจำนวนเงินสินบนมูลค่ามหาศาล พฤติการณ์ร้ายแรง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และสร้างความสูญเสียใหญ่หลวงต่อผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน

ด้วยเหตุนี้ ศาลประชาชนสูงสุดมิเห็นสมควรลดหย่อนผ่อนโทษ แม้ล่ายเสนอการให้เบาะแสที่นำไปสู่อาชญากรรมอื่นๆ จึงอนุมัติคำพิพากษาโทษประหารชีวิตล่ายของศาลประชาชนชั้นสูงประจำเทศบาลนครเทียนจิน

ทั้งนี้ ล่ายได้รับอนุญาตให้พบกับญาติก่อนต้องโทษประหารชีวิต ส่วนทรัพย์สินที่ล่ายได้รับอย่างผิดกฏหมายถูกยึดเข้าคลังกลางหรือคืนแก่ผู้มีสิทธิครอบครองตามกฏหมาย

กรณีของล่ายสะท้อนเจตคติอันแน่วแน่ของจีนในการต่อสู้กับขบวนการทุจริตในภาคการเงิน โดยปี 2019 หน่วยงานตรวจสอบวินัยพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศยื่นฟ้องและสืบสวนสอบสวนกรณีละเมิดวินัยพรรคฯ และกฎหมายในระบบการเงินมากกว่า 6,900 กรณี