ประเด็นน่าสนใจ
- กองทัพเมียนมา และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา ประสานเสียง ระบุ การเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาไม่โปร่งใส มีการโกงการเลือกตั้ง
- กกต. เมียนมา ยืนยัน การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส และยุติธรรม เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
- พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย กล่าว “อาจจำเป็นต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ทำให้กระแสการรัฐประหารเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น หลังมีข่าวลือ และการเคลื่อนย้ายกองกำลัง/ยุทโธปกรณ์บางส่วน
หลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเมียนมา แม้ว่าผ่านมาหลายเดือนแล้ว รวมถึงมีการรับรองการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของเมียนมาชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมีรายงานออกมา ก็มีความเคลื่อนไหวจากพรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา และกองทัพเมียนมา เกี่ยวกับข้อครหาโดยกล่าวว่า พรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี โกงการเลือกตั้ง
ร้องศาลสูง ปมโกงการเลือกตั้ง
เมื่อวานนี้ ตัวแทนจากพรรคการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา ได้เข้าร้องเรียนต่อศาลสูงสุดในกรุงเนปิดอว์ ของเมียนมา โดยอ้างว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางอองซาน ซูจี ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา ร่วมกันโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 63 ที่ผ่านมา
โดยอ้างว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไม่มีความยุติธรรม และมีการโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง แต่ทางผู้ที่เข้าร้องเรียนดังกล่าว ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้ออ้างการโกงการเลือกตั้งแต่อย่างใด โดยระบุ เพียงว่า เป็นความลับ
ทางด้านของศาลสูงสุดของเมียนมา ได้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา โดยมีเวลา 14 วันในการพิจารณาคำร้องดังกล่าวว่า มีมูลหรือไม่ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ซึ่งทางกองทัพเมียนมา ยังคงยืนยันและต้องการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา ออกมาชี้แจงประเด็นในการทุจริตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เช่น การพบรายชื่อผู้เสียชีวิตไปแล้ว ในการเลือกตั้ง
กกต. เมียนมา ยัน ไม่มีการโกงการเลือกตั้ง
ทางด้านของคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา ยืนยันว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี2563 ที่ผ่านมานั้น เป็นไปอย่างโปร่งใส และยุติธรรม โดยได้ออกแถลงการเมืองวันที่ 28 ม.ค. 64 ระบุว่า
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส มีความยุติธรรม และผลการเลือกตั้งนั้นมีความน่าเชื่อถือ เป็นไปตามเจตนารมย์ของการจัดการเลือกตั้ง
รายชื่อผู้มีสิทธิ์การเลือกตั้งได้มีการตรวจสอบความถูกต้องจากการรวบรวมข้อมูลจากคณะกรรมการของกระทรวง ซึ่งได้มีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งล่วงก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งหากประชาชนพบข้อผิดพลาด ตกหล่น ก็มีการเปิดให้แจ้ง-แก้ไขรายชื่อดังกล่าวได้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น กรณีการปรากฎรายชื่อผู้เสียชีวิตไปแล้วมาเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบางส่วน ไม่ได้เป็นการโกงการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ในขณะที่การเลือกตั้งล่วงหน้าที่จัดขึ้นนั้น อุปกรณ์-ขั้นตอนต่าง ๆ มีความรัดกุมและปลอดภัย ไม่ได้เป็นปัญหาตามที่มีข่าวลือแต่ประการใด
โดยในแถลงการทั้ง 14 ข้อของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา ยืนยันถึงความโปร่งใส และถูกต้อง พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นป็นไปตามรัฐธรรมนูญของเมียนมา
รัฐประหารส่งกลิ่น
ในฝั่งของกองทัพเมียนมา ต่างออกมาให้ความเห็นต่อประเด็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีการโกงการเลือกตั้ง และไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องลาย ยังได้กล่าวเป็นนัยถึงเหตุการณ์ที่จะอาจมีความจำเป็นต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ ในระหว่างการให้โอวาทกับนักศึกษามหาวิทยาลัยป้องการประเทศของกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นยิ่งทำให้กระแสข่าวการเกิดรัฐประหารในเมียนมา ดูน่ากังวลมากขึ้นไปอีก
ในขณะเดียวกัน มีรายงานการเคลื่อนไหวของทางกองทัพเมียนมา โดยในหลายพื้นที่มีรายงานการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหาร รวมถึงยุทโธปกรณ์บางอย่างเช่น รถถัง ซึ่งทางกองทัพอ้างว่า เป็นการทดสอบ-ฝึกซ้อมทั่วไป ไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวการรัฐประหารแต่อย่างใด
สถานทูตไทย กรุงย่างกุ้งเตือน
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา เพจสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาได้รายงานสถานการณ์ความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา โดยระบุว่า
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 ม.ค. 64 มีขบวนรถบรรทุกขนาดเล็ก 50 – 60 คัน นำกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค USDP เข้าสู่กรุงเนปิดอ โดยผู้สนับสนุนพรรค USDP ราว 500 คน ถือธงพรรค USDP และเดินประท้วง กกต. จากบริเวณหน้าที่ทำการพรรค USDP กรุงเนปิดอ ไปยังหน้าศาลฎีกาเมียนมา ซึ่งมีตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีรายงานว่า ผู้ชุมนุมบางคนโยนอิฐก่อสร้างใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรงอื่น ๆ ภายหลังเกิดการชุมนุม ได้มีการควบคุมยานพาหนะเข้ากรุงเนปิดอจากกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีผู้ชุมนุมราว 200 – 500 คน ชุมนุมประท้วง กกต. บริเวณฝั่งตะวันออกของเจดีย์ชเวดากอง เขตบาฮาน กรุงย่างกุ้ง โดยเป็นการชุมนุมเพียงระยะเวลา 1 ชม. และไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรงใด ๆ
มีการออกแถลงการณ์ร่วมโดยคณะผู้แทน EU สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำเมียนมา 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก เช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ในกรุงย่างกุ้ง เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาและทุกฝ่าย ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และคัดค้านความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือสร้างอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา
เลขาธิการสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการยุยง ยึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตย และเคารพผลการเลือกตั้ง รวมถึงใช้กลไกทางกฎหมายที่มีในการแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ขอให้ชุมชนไทยติดตามข่าวสารในช่องทางที่สะดวกด้วยความเข้าใจ หากมีประเด็นใดที่อาจกระทบต่อการพักอาศัยในเมียนมา สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งได้ตลอดเวลา หมายเลขที่ติดต่อได้คือ 097 97 00 2801