ประเด็นน่าสนใจ
- ผู้พัฒนาจรวดลองมาร์ช-6เอ (Long March-6A) เป็นจรวดลำแรกของจีนที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งและเชื้อเพลิงเหลว
- จรวดลูกผสมดังกล่าวจะถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกในปี 2021
บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) ระบุว่า จรวดลองมาร์ช-6เอ ซึ่งเป็นจรวดขนาดกลางรุ่นใหม่ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยจำนวนเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งและเหลวที่แตกต่างกัน เพื่อบรรลุระดับการขนส่งที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น
จรวดดังกล่าวมีระดับการควบคุมอัตโนมัติสูงกว่าเดิมและยังมีความอัจฉริยะมากขึ้น เนื่องจากมันสามารถเฝ้าติดตามและวินิจฉัยปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
อนึ่ง จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีอวกาศเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 1970 ซึ่งเป็นวันที่จรวดลองมาร์ช-1 ได้ขนส่งดาวเทียมตงฟางหง-1 (Dongfanghong-1) ดาวเทียมดวงแรกของประเทศขึ้นสู่วงโคจร
จนเดือนมีนาคม 2019 จีนได้พัฒนาและใช้งานจรวดขนส่งลองมาร์ชแล้ว 17 ชนิด ซึ่งช่วยประเทศบรรลุโครงการอวกาศที่สำคัญหลายชุด อาทิ โครงการอวกาศแบบมีมนุษย์ควบคุม โครงการสำรวจดวงจันทร์ ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BDS) และโครงการดาวเทียมสำรวจโลกเกาเฟิน (Gaofen)
พัฒนา ‘ถังเชื้อเพลิง’ รุ่นใหม่ เบาลง-แข็งแรงขึ้น เพิ่มสมรรถนะ-ลดต้นทุนจรวดขนส่ง
บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) ระบุว่า จีนได้พัฒนาต้นแบบถังเชื้อเพลิงจรวดชนิดใหม่ 2 ชนิด ที่สามารถช่วยลดน้ำหนักของจรวดและเพิ่มสมรรถนะในการยิงขึ้นสู่อวกาศได้
ต้นแบบใหม่ทั้งสองซึ่งพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งประเทศจีน (CALVT) สังกัดบริษัทฯ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 3.35 เมตร โดยมีชนิดหนึ่งที่สร้างจากโลหะอลูมิเนียมเจือลิเทียม (aluminum lithium alloy) และอีกชนิดสร้างจากวัสดุผสม
ต้นแบบถังเชื้อเพลิงที่สร้างจากโลหะอลูมิเนียมเจือลิเทียมนั้นมีน้ำหนักเบาขึ้นร้อยละ 15 และแข็งแรงขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับถังแบบเดิมที่สร้างจากอลูมิเนียมเจือทองแดง (aluminium-copper alloy)
ต้นแบบดังกล่าวยังได้ผ่านการทดสอบหลายครั้ง และแสดงศักยภาพที่ดีเยี่ยม รวมไปถึงสอดคล้องกับข้อกำหนดสำหรับการประยุกต์ใช้ทางวิศวกรรมในเบื้องต้น
คาดว่าจะมีการติดตั้งถังชนิดใหม่นี้ในจรวดขนส่งหลายลำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางโครงสร้างและความสามารถในการบรรทุกของจรวดลองมาร์ช-5 ลองมาร์ช-7 ลองมาร์ช-8 และจรวดรุ่นอื่นๆ โดยถังดังกล่าวยังช่วยปูรากฐานสำหรับการพัฒนาจรวดหนักที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวขึ้น ตลอดจนจรวดที่ควบคุมโดยมนุษย์รุ่นใหม่
สำหรับต้นแบบถังเชื้อเพลิงจรวดที่สร้างจากวัสดุเชิงประกอบจะถูกนำไปใช้กับออกซิเจนเหลวเป็นหลัก และเมื่อเทียบกับถังเชื้อเพลิงที่ทำจากเหล็ก ต้นแบบชนิดนี้มีน้ำหนักเบากว่าร้อยละ 30 และมีความแข็งแกร่งและทนทานที่ดีกว่า นอกจากนี้ ต้นแบบชนิดนี้ยังมีข้อได้เปรียบตรงที่มีกระบวนการผลิตน้อยกว่าและมีวงจรการผลิตที่สั้นกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของจรวดลง
ทั้งนี้ บริษัทฯ ระบุว่า ปัจจุบัน คณะนักวิจัยกำลังทำการทดสอบและประเมินหลายรายการกับถังชนิดดังกล่าว
ที่มา – ซินหัว