การสูบบุหรี่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองสถาบันครอบครัว 2562

สูบบุหรี่ในบ้าน ผิดกฎหมาย หรือ ผิดเจตนารมย์กฎหมาย???

[Summary]* การสูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ได้มีกล่าวถึงไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒ * การสูบบุหรี่ในบ้าน มีความผิดหรือไม่ ยังคงไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ และไม่ได้ระบุไว้ * ตัวพ.ร.บ. กำหนดไว้เพื่อ…

Home / NEWS / สูบบุหรี่ในบ้าน ผิดกฎหมาย หรือ ผิดเจตนารมย์กฎหมาย???

[Summary]
* การสูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ได้มีกล่าวถึงไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒
* การสูบบุหรี่ในบ้าน มีความผิดหรือไม่ ยังคงไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ และไม่ได้ระบุไว้
* ตัวพ.ร.บ. กำหนดไว้เพื่อ “ลดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว” “คุ้มครองผู้ถูกกระทำ” ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว นั้นมีการกำหนด “ความผิดอาญา” ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์
[/Summary]

บทความนี้ ชี้ปัญหาของการตีความข้อกฎหมายที่อาจจะ “เกิน” เจตนารมย์ของกฎหมาย มิได้ชี้นำหรือเห็นด้วยกับการสูบบุหรี่แต่อย่างใด

วานนี้ ( 20 มิ.ย. ) หลังจากที่มีกระแสข่าว ที่ระบุว่า “การสูบบุหรี่ในบ้าน ผิดกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ 20 ส.ค.” ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ทีมงาน MThai News จึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของ พ.ร.บ. ดังกล่าว อีกครั้งหลังจากที่เป็นข่าวดังกล่าว เนื่องจากในรายละเอียดของ พ.ร.บ. นี้ “มิได้กล่าวถึงการสูบบุหรี่ไว้แต่อย่างใด”

รู้จัก พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒

สำหรับ พ.ร.บ. นี้ ได้มีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา โดยเหตุผลของการออก พ.ร.บ. ก็เพื่อแก้ไขปัญหาจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น “มีการกำหนดฐานความผิดทางอาญา” ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ ของกฎหมาย ประกอบไปด้วยในประเด็นของ

  • การลดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว
  • การให้โอกาสผู้กระทำผิด ได้มีโอกาสกลับตัว หรือ
  • การยับยั้งมิให้มีการกระทำผิด
  • การบูรณาการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย และจากเหตุผลเหล่านี้จึงได้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อสามารถคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ป้องกัน ระงับ ยับยั้งการก่อความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมให้มีการบำบัด ฟื้นฟูผู้ถูกกระทำความรุนแรง ทำให้มีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

ไม่มีคำว่า “บุหรี่” ปรากฎในพ.ร.บ. แม้แต่คำเดียว

จากเหตุผลที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเห็นว่า เป็นการเน้นการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการสำหรับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดนเน้นเรื่องของการทำร้ายร่างกาย – ความผิดทางอาญา เป็นหลัก “มิได้มีการกล่าวถึง” ประเด็นของการสูบบุหรี่แต่อย่างใด

ภายใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนั้น พบประเด็นที่กล่าวถึง “ยาเสพติด” และ “การติดสุรา” ในประเด็นมาตราเดียวคือ มาตราที่ 29 (3) และ (7) ซึ่งเป็นการเอ่ยถึงผู้ที่กระทำความรุนแรงแก่บุคคลในครอบครัวนั้น ห้ามเสพสุรา-ยาเสพติด และให้ดำเนินการบำบัดการติดยา สิ่งเสพติด

มีเพียงมาตราเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงการติดยาเสพติด

ประเด็น “สูบบุหรี่ในบ้าน ผิดกฎหมายมาจากไหน”

สำหรับในประเด็นดังกล่าว มาจาก การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 โดยได้มีการกล่าวถึงประเด็นข้อกฎหมายเรื่องของ “สุขภาพ” โดยการตีความว่า

การสูบบุหรี่ เป็นการทำลายสุขภาพของบุคคลในครอบครัว จึงถือการกระทำความรุนแรงตามนิยามของกฎหมายนี้

>> ‘สูบบุหรี่ในบ้าน’ มีความผิดรุนแรงในครอบครัว ดีเดย์ 20 ส.ค.นี้

ซึ่งในประเด็นข่าวดังกล่าวนั้น มีรายละเอียดที่ได้มีการตีความว่า การสูบบุหรี่เป็นการทำลายสุขภาพ และการสูบบุหรี่ภายในบ้านนั้นก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุคคลในบ้านด้วยนั่นเอง

นิยามในพ.ร.บ.ดังกล่าวที่เป็นประเด็น

หากย้อนกลับไปดูในมาตรา 4 ที่มีการนิยามความรุนแรงในครอบครัวไว้ว่า

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“ความรุนแรงในครอบครัว” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียง ของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ

“บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กิน หรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตรบุญธรรม รวมทั้งบุคคลใด ๆ ที่ต้องพึ่งพา อาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒

จากนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น ได้มีการเอ่ยถึง ลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย ต่อสุขภาพไว้ด้วย จึงเป็นเหตุผลให้มีการหยิบยกข้อกฎหมายนี้มาเอ่ยถึงนั่นเอง

ในประเด็นนี้จึงอยู่ที่ “การสูบบุหรี่” ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลภายในบ้านหรือไม่? หากทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนในบ้าน นั่นย่อมเข้าข่ายความผิดนี้ได้เช่นกัน

ตั้งข้อสังเกต หาตีความเช่นนั้น กรณีอื่นก็ผิดใช่ไหม?

ในประเด็นของการตีความเช่นนี้ อาจจะต้องรอดูแนวทางคำตัดสินให้ชัดเจนว่า การกระทำใด หรือไม่กระทำการใด มีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ และยังไม่ได้มีรายละเอียดอื่นใด ถึงกรอบการตีความดังกล่าวแต่อย่างใด

เนื่องจาก หากเป็นการตีความเช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หรือไม่ หากเปรียบเทียบกับข่าวก่อนหน้านี้ที่ผู้ปกครองไม่แปรงฟันให้ลูกทำให้เกิดฟันผุ จนเป็นอันตราย

>> เตือนเคสฟันผุติดเชื้อหนองขึ้นตา เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและ ‘ผู้ใหญ่’
>>
อุทาหรณ์! เด็กฟันผุต้องรีบรักษา ถูกเจาะคางเอาหนองออก
>>
เด็ก5ขวบฟันผุ ต้องวางสลบถอนออก7ซี่ เหตุติดกินนมจากขวดเลิกไม่ได้

ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ถือว่า ผู้ปกครองมีความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วยหรือไม่? นั่นเป็นคำถามที่คงต้องรอคำตอบที่ชัดเจนจากผู้เกี่ยวข้องว่า การตีความถึงการกระทำต่อสุขภาพของบุคคลในครอบครัว อยู่ในกรอบแบบใดกันแน่

เบื้องต้น ควรทำอย่างไร?

สำหรับในเบื้องต้นที่ยังคงไม่มีความชัดเจนในการตีความข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น การสูบบุหรี่ภายในบ้าน ยังคง “ไม่มีความผิดที่ชัดเจน” หรือหากตีความ “เบื้องต้น” ตามข้อกฎหมายนี้

ความผิดตามพ.ร.บ.นี้ จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อ “มีการสูบบุหรี่” และ “ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลในบ้าน” (หากใช้นิยามตรงตัว)

ดังนั้น หากการสูบภายในบ้านโดยที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพบุคคลในครอบครัวเช่น การไปสูบในบริเวณอื่นของบ้าน ก็ไม่เข้าข่ายตามความผิดนี้นั่นเอง

แต่ท้ายที่สุดแล้ว บุหรี่และควันบุหรี่ ก็มิได้มีผลดีต่อสุขภาพของทั้งผู้สูบและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ดังนั้นการเลือกที่จะเลิกสูบบุหรี่ ดูจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการที่จะต้อให้มีการบังคับใช้ข้อกฎหมายเหล่านี้