ประเด็นน่าสนใจ
- เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ระดับ 30.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
- คาดการณ์ว่า สิ้นปี 2562 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจะอยู่ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่า 5% จากปลายปี 2561
- กำไรของธุรกิจส่งออกอาจหดหายถึง 6.6 หมื่นล้านบาท ซ้ำเติมจากแนวโน้มส่งออกที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ
- ด้าน ธปท. ระบุว่า จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่พึงประสงค์
เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (21 มิ.ย. 2562) ที่ระดับ 30.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี โดยแข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.92 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามภูมิภาคเอเชียและกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากในระยะสั้นตลาดมั่นใจมากว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเดือนหน้า และทรัมป์จะเจรจากับสีจิ้นผิงได้ในช่วงสิ้นสัปดาห์ ขณะที่สัปดาห์หน้าต้องจับตาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าหากขึ้นดอกเบี้ยนโนบายจะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น
โดยอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 21 มิ.ย. 2562 มีดังนี้
สกุลเงิน | ราคาขาย | ราคาซื้อ |
ดอลลาร์ สหรัฐฯ | 31.10 | 30.40 |
ยูโร | 35.37 | 34.17 |
หยวน จีน | 4.66 | 4.09 |
เยน ญี่ปุ่น (100) | 29.30 | 28.15 |
วอน เกาหลี | 0.029 | 0.025 |
*ธนาคารไทยพาณิชย์ รอบเวลา 11.04
ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เงินบาทและเงินสกุลกลุ่มประเทศเกิดใหม่ผันผวนสูง ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยหากแข็งค่าต่อเนื่องและเร็วขึ้นเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่ง อาจเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ธปท. จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่พึงประสงค์
ในระยะต่อไป ปัจจัยภายนอกจะยังคาดการณ์ได้ยากและจะส่งผลให้ค่าเงินสกุลประเทศเกิดใหม่ผันผวนได้ต่อเนื่อง ภาคเอกชนจึงควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยช่วงที่เงินบาทแข็งค่า เป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้มีภาระหนี้หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเป็นสกุลเงินต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจสามารถนำเข้าสินค้าและเครื่องจักร หรือเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศด้วยต้นทุนค่าเงินที่ถูกลง
ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดการณ์ว่า สิ้นปี 2562 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจะอยู่ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่า 5% จากปลายปี 2561 ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังส่งผลในระดับธุรกิจ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ โดยแยกผลกระทบเงินบาทแข็งค่าต่อธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
- ธุรกิจที่เสียประโยชน์ พบว่าธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก จะได้ผลกระทบมากที่สุดจาก ทำให้รายได้ผู้ประกอบการหายไปกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท กลุ่มธุรกิจที่ถูกกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเครื่องประดับ
- กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ คือ ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นเงินต่างประเทศน้อยลง 6.2 หมื่นล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ เครื่องจักร/ชิ้นส่วน เหล็ก/โลหะ เวชภัณฑ์/เครื่องมือการแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอต่างๆ
- กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง(Natural Hedging) กลุ่มธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์
สรุป ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปีนี้ จะสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกที่ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้าอยู่แล้ว เช่น ระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ตลาดโลกซบเซา การแข่งขันจากประเทศอื่น
มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องเปิดตลาดใหม่ๆ ทำผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จนไปถึงการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาศักยภาพการทำกำไร และยังคงมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป