“ปิยบุตร” ยก 4 กรณีถือหุ้นสื่อเทียบมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม โต้ 27 ส.ส.พลังประชารัฐ ไม่มีกฎหมายข้อใดให้ขอคุ้มครองชั่วคราวได้
วันนี้ (21 มิ. ย. 62) ที่ ทำการพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้วินิจฉัยกรณี 41 ส.ส.พรรครัฐบาลถือหุ้นสื่อ ถือว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่
โดย นายปิยบุตร ระบุว่า สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ในขณะนี้มีสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ เกณฑ์ในการพิจารณาดูว่ามีการถือหุ้นสื่อจริงหรือไม่ และเรื่องที่สอง คือ จะมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวหรือไม่
ในเรื่องแรกนั้น นายปิยบุตร ระบุว่า เคยมีแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วในสองคดีหลักๆ คือคดีของอดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด และอดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดอ่างทอง พรรคประชาชาติ นายคมสัน ศรีวนิชย์ ซึ่งทั้งสองคดีนี้ศาลได้ให้แนวทางมาแล้ว ว่าให้ไปดูที่หนังสือบริคณห์สนธิ โดยถ้ามีข้อความระบุว่าทำกิจการที่เกี่ยวกับสื่อวลชน ก็ให้ถือว่าบริษัทนั้นประกอบกิจการสื่อจริง ส่วนเรื่องที่สอง กรณีที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่าหากปล่อยให้ปฏิบติหน้าที่ต่อไป จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและการดำเนินงานที่สำคัญในการประชุมสภา
ต่อมา นายปิยบุตร ได้นำกรณีของคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และมีข้อเท็จจริงไม่ได้แตกต่างกัน มาชี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงมาตรฐานในการพิจาณา คือกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ กกต.ใช้เวลา 386 วันหลังจากรับเรื่อง ก่อนที่จะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 70 วันก่อนจะมีคำวินิจฉัยรับคำร้อง และมีคำสั่งออกมาว่าไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ และยังมีกรณีของสี่รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ที่ กกต.ใช้เวลาถึง 355 วันหลังจากรับคำร้อง ในการส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาถึง 75 วันก่อนจะมีคำวินิจฉัยรับคำร้อง และมีคำสั่งออกมาว่าไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณีของนายธนาธร กกต.ใช้เวลา 51 วันก่อนส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญหลังจากรับคำร้องมา และศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้นพร้อมมีคำวินิจฉัยให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
ส่วนกรณีของ 41 ส.ส. ที่มีการยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลา 8 วันก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และจนขณะนี้ทุกคนก็ยังรออยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ และจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ “ที่น่าสนใจคือ ไม่ทราบว่าจะมีการใช้บรรทัดฐานแบบนายดอน, สี่รัฐมนตรี, หรือใช้บรรทัดฐานเดียวกับกรณีของนายธนาธร” นายปิยบุตรกล่าว
นายปิยบุตร ยังระบุต่อว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการโต้แย้งในหลายประเด็นว่ากรณีของนายธนาธรไม่เหมือนกันกับกรณีของ 41 ส.ส. ซึ่งตนก็เชื่อว่ามีความไม่เหมือนกันจริงๆ เพราะกรณีของนายธนาธรได้มีการโอนหุ้นหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เพราะฉะนั้นในวันสมัครรับเลือกตั้ง นายธนาธรไม่มีชื่ออยู่ในการถือหุ้นสื่ออะไรอีกเลย แต่ทาง 41 ส.ส.นั้น ในวันที่รับสมัครยังคงถือหุ้นสื่ออยู่ เป็นที่แน่ชัดว่าทุกคนถือหุ้นอยู่จริงโดยไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้
ส่วนการโต้แย้งว่ากรณีของ 41 ส.ส.ไม่ได้เป็นบริษัทที่ทำกิจการสื่ออยู่จริง เป็นเพียงการระบุไปในข้อหนึ่งของหนังสือบริคนธ์สนธิเท่านั้น อย่างนั้นตนก็ต้องถามว่าแล้วกรณีของนายภูเบศวร์และนายคมสัน ก็เป็นกรณีที่บริษัทไม่ได้ทำกิจการสื่ออยู่จริงๆ เช่นเดียวกัน แต่ก็ถูกตัดสิทธิ์โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เช่นนั้นแล้วตนก็ต้องถามว่าตกลงแล้วเราจะใช้มาตรฐานใดในเรื่องนี้กันแน่
ส่วนกรณีที่ 27 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างว่าหากหยุดปฏิบัติหน้าที่จะกระทบกับการทำหน้าที่สำคัญนั้น ตนก็ต้องตั้งคำถามว่ากรณีของนายธนาธร ศาลมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยเหตุผลว่าอาจกระทบกับการดำเนินงานที่สำคัญ แล้วจะเอาเหตุผลว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญอยู่มาอ้างได้อย่างไร ตกลงแล้วจะใช้มาตรฐานไหนกันแน่
“กระบวนการตอนนี้ศาลยังไม่พูดอะไรซักแอะ แต่คุณส่งไปแล้วว่าขอให้คุ้มครองชั่วคราว คุณไปร้องก่อนล่วงหน้า แล้วไปร้องโดยไม่มีช่องทางให้ร้องด้วย แต่สุดท้ายหากกรณีชองพรรคพลังประชารัฐได้รับการคุ้มครองชั่วคราวแบบนี้ขึ้นมา ทางพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธรก็จะขอสงวนสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวด้วย แต่เบื้องต้นตอนนี้เราขอยืนยันว่าช่องทางนี้ไม่มี แต่ถ้าสุดท้ายศาลให้เมื่อไหร่เราจะขอด้วยแน่” นายปิยบุตรกล่าว
ส่วนการขอให้ศาลเปิดการไต่สวนสองครั้งนั้น นายปิยบุตร ระบุว่า ใน พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดเอาไว้เลยว่าศาลต้องเปิดการไต่สวนในขั้นตอนการรับคำร้อง รวมถึงในขั้นตอนวินิจฉัยว่าจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยในมาตรา 49 ระบุไว้ว่าศาลอาจจะตั้งองค์คณะเล็กขึ้นมาพิจารณาหรือร่วมกันพิจารณาโดยองค์คณะใหญ่เองก็ได้ ซึ่งตอนนี้ตนก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนอยู่ตรงไหนแล้ว หากใช้องค์คณะใหญ่ ณ ตอนนี้ก็ถือว่าเกินช่วงเวลา 5 วันมาแล้ว และสุดท้ายหากศาลอนุญาตให้ 41 ส.ส.เข้าชี้แจงก่อนวินิจฉัยว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ตนก็ต้องถามกลับไปว่าแล้วทำไมกรณีของนายธนาธร ไม่มีการเปิดโอกาสให้ชี้แจงในลักษณะเดียวกันบ้าง
สุดท้าย นายปิยบุตรระบุว่าการแถลงข่าวในวันนี้ ตนไม่ได้ต้องการตั้งคำถามถึงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เราต้องการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย เราขอเพียงอย่างเดียวว่าขอให้มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมแบบเดียวกัน กรณีที่เหมือนกันต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน
“อำนาจขององค์กรทั้งหลายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งอยู่บนกฎหมายว่าแต่ละองค์กรมีอำนาจใด และมีกฎหมายห้ามละเมิด ห้ามหมิ่นเจ้าหนักงาน ห้ามละเมิดศาล แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น
ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีศรัทธาจากพี่น้องประชาชน ของสาธารณชนต่างหาก ร่วมกันประเมินตัดสินว่ายุติธรรมจริงหรือไม่
ถ้าหากคุณจะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมา ทำให้คนทั้งประเทศเชื่อมั่นว่ายุติธรรมจริงหรือไม่ คุณก็ต้องทำให้คดีที่มีลักษณะเดียวกันได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกัน” นายปิยบุตรกล่าว