วันนี้ (22 มิ.ย. 62) เวลา 17.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 แบบเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้อง Grand Hall โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนให้แก่อาเซียนอย่างรอบด้าน โดยมุ่งเน้นการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีจำนวนประชากรกว่า 640 ล้านคนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต เพื่ออนาคตที่มั่นคงของประชาชนอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนควรให้ร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่องใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
(1) การส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืนในอาเซียนและภูมิภาค โดยการใช้สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาในทุกมิติสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้อาเซียนเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อาเซียนจึงควรร่วมกันศึกษาและดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไป
(2) การสร้างอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ด้วยการใช้กลไกความร่วมมือต่าง ๆ ของอาเซียน อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) กลไกทางการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility) การพัฒนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network)
รวมถึงกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงของอาเซียนในภาพรวม โดยไทยพร้อมจะสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนผ่านโครงการ EEC ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศอย่างมาก
อาเซียนควรสร้างโอกาสและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ด้วยการเสริมสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัล (Digital Ecosystem) ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนักในการใช้พื้นที่ไซเบอร์ เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
(3) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและภาคีภายนอก เพื่อผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาขยะทะเล และการประมงที่ยั่งยืน ให้มีการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในที่สุด
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ความยั่งยืนในอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ และทำให้อาเซียนมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยประเทศสมาชิกจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งนี้ เพื่อนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียนทุกคน
ข้อมูลจาก thaigov