ประเด็นน่าสนใจ
- เกาหลีใต้ วางกำหนดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในช่วง เดือน ก.พ. นี้
- รัฐบาลได้มีการสั่งซื้อวัคซีนไว้สำหรับประชาชน 56 ล้านคน
- มีการสั่งวัคซีนจากหลายค่ายด้วยกัน ทั้ง Pfizer, Astrazeneca, Moderna ฯลฯ
เมื่อวันจันทร์ (18 ม.ค.) มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวปีใหม่ว่าโครงการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ที่วางแผนไว้จะช่วยให้เกาหลีใต้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ โดยการฉีดวัคซีนขั้นเบื้องต้นที่กำหนดเริ่มเดือนกุมภาพันธ์และเสร็จสิ้นเดือนกันยายนจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยรวม ส่วนการฉีดวัคซีนช่วงไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกือบสมบูรณ์ภายในเดือนพฤศจิกายน
“เกาหลีใต้จะไม่มีวันก้าวช้าล้าหลัง มีแต่จะรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ หากพิจารณาจากกำหนดการฉีดวัคซีนและกรอบเวลาสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”
มุนกล่าว โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศการสำรองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประชาชน 56 ล้านคน ซึ่งแบ่งเป็น
- แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) 10 ล้านคน
- ไฟเซอร์ (Pfizer) 10 ล้านคน
- โมเดอร์นา (Moderna) 20 ล้านคน
- แจนเซน (Janssen) 6 ล้านคน
- โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ที่นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) 10 ล้านคน
มุนแสดงคำมั่นว่าประชาชนเกาหลีใต้ 52 ล้านคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและเป็นไปตามลำดับความสำคัญ พร้อมเสริมว่าการระบาดระลอกใหม่ในประเทศใกล้สิ้นสุดแล้ว โดยยอดผู้ป่วยสะสมล่าสุดอยู่ที่ 72,729 ราย หลังตรวจพบผู้ป่วยใหม่ 389 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมง ทำให้เกาหลีใต้มียอดผู้ป่วยใหม่รายวันต่ำกว่า 400 ราย ติดต่อเป็นวันที่ 54 นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. ปีก่อน ด้านการระบาดในท้องถิ่นส่งสัญญาณอ่อนตัวหลังรัฐบาลยกระดับแนวปฏิบัติเว้นระยะห่างทางสังคมสู่ระดับรองสูงสุด ซึ่งจะบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ม.ค. นี้
สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ มุนประเมินว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ภายในครึ่งแรกของปีนี้ เมื่ออ้างอิงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่แสดงสัญญาณเชิงบวกอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของเกาหลีใต้ (ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) หดตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2020 และลดลงร้อยละ 3.2 ในไตรมาสสอง (เม.ย.-มิ.ย.) ก่อนเติบโตร้อยละ 2.1 ในไตรมาสสาม (ก.ค.-ก.ย.) ด้วยพลังการส่งออกที่ฟื้นตัวถึงร้อยละ 16
ด้านธนาคารกลางของเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าจีดีพีที่แท้จริงของประเทศจะดีดกลับมาเติบโตร้อยละ 3 ในปี 2021 หลังจากลดลงร้อยละ 1.1 ในปี 2020 โดยมุนเสริมว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจเชิงบวกไม่ได้นำมาซึ่งสภาพเศรษฐกิจเชิงบวกโดยตรงอย่างที่คนทั่วไปรับรู้ได้ในเวลานี้ ชี้ว่าอาจต้องใช้เวลาอีกมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการจ้างงานจะฟื้นคืนกลับมา
ปัจจุบันเกาหลีใต้อยู่ระหว่างบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวดกว่าเดิม ซึ่งกำหนดให้สถานบันเทิงที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อสูงปิดบริการ ขณะธุรกิจหน้าร้านอย่างร้านอาหารและคาเฟ่เปิดให้บริการได้ภายใต้ข้อจำกัด
อนึ่ง รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มต้นแจกจ่ายเงินเยียวยารอบ 3 ตั้งแต่ 1-3 ล้านวอน (ราว 27,000-81,000 บาท) แก่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 2.8 ล้านราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่ามีการคาดการณ์ว่าเงินเยียวยาดังกล่าวไม่เพียงพอจะชดเชยความสูญเสีย เนื่องจากยังน้อยกว่าค่าเช่ารายเดือนของร้านค้าขนาดเล็ก โดยเฉพาะพื้นที่มหานครโซล ซึ่งมุนเผยว่ารัฐบาลจะพิจารณาการจ่ายเงินเยียวยาวรอบใหม่ หากเงินเยียวยารอบ 3 ไม่เพียงพอต่อความต้องการ