องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ลงนามข้อตกลงคุณธรรมและสัญญาจ้าง เดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ มาตรฐานคุณภาพและเทคโนโลยีระดับโลก ( World-Class Quality & High Technology ) ช่วยคนไทยเข้าถึงยาที่จำเป็นมากขึ้น ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ
วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิกุล 1 องค์การเภสัชกรรม (คลอง 10 ) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ กรรมการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและกำกับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างและควบคุมงาน โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2
ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาคุณภาพมาตรฐานสากล ระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กับผู้สังเกตการณ์ จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และ นายอำนวย กาญจโนภาศ รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างโรงงานฯ และ นายณัฐพล แสงสรสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเจ็ค แอลไลแอ็นซ์ จำกัด บริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้างโรงงานฯ เพื่อเป็นการตกลงที่จะดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงร่วมกันเดินหน้าดำเนินงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นางญาใจ กล่าวว่า คณะกรรมการและคณะผู้บริหารมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้การดำเนินงานของโครงการฯ ให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยดีตามที่ได้วางไว้ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยต้องการให้โรงงานแห่งใหม่แห่งนี้ เป็น Smart Industry ที่มีมาตรฐานคุณภาพและเทคโนโลยีระดับสากล เป็นการยกระดับทั้งด้านคุณภาพและปริมาณการผลิตให้สูงขึ้น และเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นโรงงานผลิตยาของคนไทย เพื่อคนไทย
มุ่งหวังถึงผลประโยชน์ของประชาชนและของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาคุณภาพระดับสากลได้มากขึ้น ในราคาที่เป็นธรรม ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นการสร้างความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเภสัชอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของนักศึกษาและบุคคลากรสาธารณสุขของประเทศ อีกด้วย
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานฯในครั้งนี้ สร้างขึ้นในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนเนื้อที่ 60 ไร่ โครงการฯได้รับการอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 5,607.84 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งใช้เงินจากการดำเนินงานขององค์การฯจำนวน 2,243.14 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน 3,367.70 ล้านบาท และจากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างและการควบคุมงาน
โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รับชั่น(ประเทศไทย) ร่วมสังเกตการณ์ด้วย สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ในวงเงิน 5,396 ล้านบาท โดยใช้เวลาในการก่อสร้างพร้อมติดตั้งระบบงานและเครื่องจักรเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึง มิถุนายน 2565 สำหรับรองรับกำลังการผลิตยาที่ย้ายฐานการผลิตมาจากโรงงานที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 และผลิตยารายการใหม่ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และด้วยเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูงจะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตยา โดยรวมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 เท่าตัว
ซึ่งจะช่วยทำให้ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา ได้มากกว่ามูลค่าในปัจจุบันที่ประหยัดได้มากกว่าถึงปีละ 7,500 ล้านบาท โดยดำเนินการผลิตตามมาตรฐานคุณภาพ GMP PIC/S ที่จะรับรองโดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ มาตรฐานระดับนานาชาติ
โรงงานฯ แห่งใหม่นี้ จะทำการผลิตยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม/ขี้ผึ้ง และยาเม็ด กลุ่มยาที่รักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาช่วยชีวิต ยาชา ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเปิดทำการผลิตได้ภายในปี 2565
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ครั้งนี้ จะมีองค์กรต่อต้านคอร์รับชั่น(ประเทศไทย) ร่วมดูแลและให้คำแนะนำตลอดการดำเนินโครงการ ซึ่งจะช่วยยกระดับการดำเนินงานตามนโยบายองค์กรคุณธรรมขององค์การฯ ทำให้การดำเนินงานของโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายเงินขององค์การฯ
อีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลของโครงการฯ อย่างเป็นธรรม ยังก่อให้เกิดผลดีกับทุกภาคส่วน รวมถึงบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างโรงงานฯ คือ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ควบคุมงานการก่อสร้างโรงงานฯ คือ บริษัท โปรเจ็ค แอลไลแอ็นซ์ จำกัด ที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงคุณธรรมครั้งนี้
ด้าน ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ระบบต่างๆที่ใช้ในการผลิตจะใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สากลให้การยอมรับ อาทิ เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีดิจิตลอล( Digital Technology) และ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics ) เทคโนโลยีการเชื่อมโยงเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ตกับทุกสิ่ง (Internet of Things : IoT ) เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ( Building Automation System ) เข้ามาใช้ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รวมถีงการจัดเก็บสินค้าใช้ระบบคลังอัตโนมัติ ASRS (Automated storage and retrieval system)
โรงงานแห่งนี้ฯ นอกจากจะต้องได้รับรองมาตรฐานคุณภาพ GMP PIC/S โดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แล้ว ยังมีเป้าหมายก้าวไปสู่การรับรองมาตรฐานคุณภาพ GMP ในระดับสากล อาทิ มาตรฐานองค์การอนามัยโลก WHO PQ ( WHO Prequalification Program) มาตรฐานยุโรป EU-GMP มาตรฐานองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา US-FDA GMP เป็นต้น และเป็นโรงงานที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของอาคารสีเขียว(Green Factory) ที่มีการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนรายละเอียดของโรงงานฯ ประกอบด้วย อาคารผลิตยาเม็ด มีกำลังการผลิต 6,000 ล้านเม็ด/ปี อาคารผลิตยาครีม/ขี้ผึ้ง ยาน้ำใช้ภายนอก 0.637 ล้านกิโลกรัม/ปี ยาฉีด 34.60 ล้านขวด(หลอด)/ปี อาคารผลิตยาน้ำรับประทาน 6 ล้านลิตร/ปี อาคารคลังสำรองวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ สามารถเก็บสำรองวัตถุดิบและอุปกรณ์การบรรจุ ได้ 9,800 พาเลท