กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงาน“รัฐ-ราษฎร์ รวมพลัง ร่วมใจ แก้ปัญหาน้ำเสีย” ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และสถาบันอุดมศึกษา ผลักดันอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย ในวันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา คพ. ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำสายหลักทั่วประเทศ โดยพบว่าคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงร้อยละ 45 ส่วนที่เหลืออยู่ในเกณฑ์พอใช้และเกณฑ์เสื่อมโทรม
ซึ่งแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสื่อมโทรม ยังคงเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ ทั้งจากชุมชน อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ที่ไม่ผ่านการบำบัด หรือบำบัดไม่ได้ตามค่ามาตรฐาน ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียและส่งผลกระทบต่อชุมชน
ซึ่งอาคารที่ทำการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานราชการอิสระ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในกำกับของรัฐอีกเป็นจำนวนมาก เข้าข่ายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม
จึงต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการจัดการน้ำเสีย และการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไว้
นายสมชาย กล่าวว่า คพ.ได้จัดงาน “รัฐ-ราษฎร์ รวมพลัง ร่วมใจ แก้ปัญหาน้ำเสีย” เพื่อส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตระหนัก ให้ความสำคัญและร่วมกันลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพน้ำ
รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับอาคาร สถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างถูกต้อง ซึ่งในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นการอบรมให้ความรู้และชี้แจงแนวทางดำเนินการ
ภายใต้ “โครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย” ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานกำหนดนโยบายในการจัดการน้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง
มีการจัดการน้ำเสียจากอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเป็นอาคารราชการต้นแบบ ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการตรวจสอบ และควบคุมการระบายน้ำทิ้งตามกฎหมาย
ส่วนในวันที่ 25 มิถุนายน 2562 จะเป็นการชี้แจง ทำความเข้าใจกับอาคาร สถานประกอบการภาคเอกชน ในแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนด เพื่อลดการระบายน้ำทิ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น
อีกทั้งยังช่วยให้แหล่งน้ำมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เอื้อประโยชนต่อชุมชนอย่างยั่งยืน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ จะลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำทิ้งต่อไป