กอ.รมน. ติดโซลาร์เซลล์ 45 ล้าน

กอ.รมน. ชี้แจงงบ 45 ล. ติดโซลาร์เซลล์ใน อ.อมก๋อย

ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพเอกสาร การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 45 ล้าน ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

Home / NEWS / กอ.รมน. ชี้แจงงบ 45 ล. ติดโซลาร์เซลล์ใน อ.อมก๋อย

ประเด็นน่าสนใจ

  • ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพเอกสาร การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 45 ล้าน ใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
  • โฆษก กอ.รมน. เผย เป็นการติดตั้ง 5 แห่ง แบ่งเป็น หมู่บ้าน 4 แห่ง และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย 1 แห่ง
  • ยืนยันการจัดซื้อจัดจ้างได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฯ

จากกรณีในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพเอกสารประกาศเชิญชวน การประกวดราคาของการจัดทำโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ปรากฏบนสื่อโซเชียล และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างนั้น

ล่าสุดวานนี้ (15 ม.ค. 64) พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน.ได้ชี้แจงแนวทางการจัดทำโครงการฯ งบประมาณ จำนวน 45 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปี 2562 เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 215 กิโลวัตต์

พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. / ภาพ : กอ.รมน.

พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเธียม) ขนาดความจุ 994 กิโลวัตต์ – ชั่วโมง พร้อมติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนระยะทาง 5,409 เมตร, ติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 120 ชุด และโรงคลุมแบตเตอรี่ฯ ในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่

  1. หมู่บ้านพะอัน ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 30.72 กิโลวัตต์
  2. หมู่บ้านจกปก ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 51.20 กิโลวัตต์
  3. หมู่บ้านห้วยไก่ป่า ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 41.20 กิโลวัตต์
  4. หมู่บ้านมูเซอหลังเมือง ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 51.20กิโลวัตต์
  5. ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 30.72 กิโลวัตต์

ประชาชนทั้ง 4 หมู่บ้าน ต้องการไฟฟ้า

ในปี 2561 ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคง พื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่สำรวจ ความต้องการของประชาชนเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ทำการประชุมประชาคมของประชาชนทั้ง 4 หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ของ 3 อบต. ได้แก่ อบต.สบโขง, อบต.แม่ตื่น และ อบต.ม่อนจอง โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการติดตั้งระบบฯ กอ.รมน.ภาค 3 จึงได้เสนอโครงการฯ เข้ารับการสนับสนุนงบประมาณในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2562

ว่าด้วยเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยกำหนดราคากลางของโครงการตามบัญชีราคามาตรฐานของกรมบัญชีกลาง และการสืบราคาจากท้องตลาด โดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

ซี่งเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการทั่วไปยื่นข้อเสนอ ที่ผ่านมามีผู้สนใจยื่นรับเอกสารผ่านระบบฯ จำนวน 4 ราย และมีผู้ยื่นเสนอราคา จำนวน 3 ราย เมื่อตรวจสอบเอกสาร ตามเงื่อนไขปรากฏว่ามีผู้ยื่นเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน จำนวน 3 ราย คือ บ.ทีซัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บ.บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ส่วนกิจการร่วมค้า เอ็ม เอ็ม ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดยื่นเอกสารไม่ถูกต้อง และไม่ครบถ้วน จำนวน 11 รายการ ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นสาระสำคัญต่อผลสำเร็จของโครงการ จึงไม่ผ่านการคัดเลือก

สำหรับ บ.บี.เอ็น.โซล่าร์ เพาเวอร์ จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา (45,100,000 บาท) ได้จดทะเบียนตั้ง บริษัทในปี 2557 มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการด้านพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน ประกอบกับมีผลงานการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานวงเงินไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาทตามเงื่อนไข

ตรวจรับงานแล้ว ช่วง ก.ย.63

การดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายหลักไปยังพื้นที่สาธารณะประโยชน์ และพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ได้แก่ อาคารเรียน, ศาลาประชาคมประจำพื้นที่ และเสาไฟส่องสว่างตามเส้นทางภายในหมู่บ้าน ส่วนโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนที่ให้ประชาชนใช้งานภายในบ้านจะดำเนินการต่อไป

ที่ผ่านมา กอ.รมน. ได้ดำเนินการตรวจรับงานแล้ว เมื่อเดือน ก.ย. 63 ระบบสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพพร้อมจัดทำบัญชีคุมอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการโอน/ส่งมอบระบบให้ทั้ง 3 อบต. ใช้งาน โดยเมื่อ 30 ธ.ค. 63 กอ.รมน. ได้ส่งหนังสือการพิจารณายืนยันการรับมอบระบบฯ ไปยัง 3 อบต. ภายหลังจาก อบต. ตอบหนังสือยืนยันกลับมาแล้วจึงจะทำการโอนระบบให้ อบต. แล้วจึงจะบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โดยการเชื่อมสายไฟเข้าไปในตัวบ้านเพื่อใช้งานต่อไป

ที่มา : กอร.มน.