นักวิชาการชี้การทำหวยออนไลน์ จากกรณีที่บอร์ดสลากฯ มีมตินำกลับมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนได้เสี่ยงโชค จะต้องศึกษาผลกระทบและรูปแบบให้ละเอียด ไม่เช่นนั้น อาจส่งผลให้ประชาชนหมกมุ่นกับการเสี่ยงโชคมากขึ้น
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา เผยถึงมุมมองกรณีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมตินำจะหวยออนไลน์ 2 ตัว 3 ตัว และสลาก “ลอตโต้” กลับมาจำหน่ายอีกครั้ง ว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยจำหน่ายมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในยุคนั้น แต่ไม่ได้แก้พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย แต่ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เตรียมนำหวยออนไลน์กลับมาปัดฝุ่นนั้น เป็นความต้องการแก้ปัญหาขายสลากกินแบ่งเกินราคา
โดยเฉพาะสลากที่ขายเป็นชุด และเพื่อตอบสนองประชาชนบางกลุ่ม ที่ต้องการลุ้นรางวัลแค่เลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ส่วนหากมองประโยชน์จากหวยออนไลน์ ถือว่ารัฐบาลจะได้ประโยชน์เรื่องรายได้ และประชาชนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในการซื้อหวยในราคาต้นทุน จากกองสลากโดยตรง แต่อีกมุมหนึ่ง อาจส่งให้คนหมกมุ่นกับการเสี่ยงโชค จนกระทบเงินออม และอาจทำให้เกิดนักพนันหน้าใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าหวยออนไลน์ อาจส่งผลให้เจ้ามือหวยใต้ดินเพิ่มแรงจูงใจ เช่น เพิ่มเงินรางวัล
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมองว่า รายได้ที่รัฐบาลจะได้จากหวยออนไลน์ ถือเป็นภาษีบาป ดังนั้น รัฐควรจะนำรายได้ส่วนหนึ่ง มาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเล่นหวยออนไลน์ รวมถึงรณรงค์ไม่ให้ประชาชนหมกมุ่นกับการเสี่ยงโชค เพราะในปัจจุบัน พบว่าสังคมไทยยังไม่มีมาตรการสร้างขอบเขตให้คนเสี่ยงโชคอย่างพอดี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการศึกษาผลกระทบ ก่อนดำเนินการใดๆ
สำหรับการพยายามแก้ไขสลากเกินราคาที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันกองสลากมีการออกสลากรวม 90 ล้านฉบับ มีทุนฉบับละ 70 บาท 40 สตางค์ โดยกำหนดขายในราคาฉบับละ 80 บาท ซึ่งแต่ละฉบับจะมีกำไรถึง 9 บาท 60 สตางค์
ส่วนการแก้ปัญหา ก็มีทั้งการให้รางวัลนำจับคดีละ 1,000 บาท / ออกสลากรวมชุด 2 ใบ ในราคา 160 บาท / ยกเลิกรางวัลแจ็กพอต / ปรับเปลี่ยนรางวัลเลขท้าย 3 ตัว มาเป็นรางวัลเลขหน้า 3 ตัว 2 รางวัล และรางวัลเลขท้าย 3 ตัว 2 รางวัล / ปรับแผนจำหน่ายสลากจากเดิมที่ขายผ่านเอเยนต์ และระบบโควตา เปลี่ยนมาเป็นการขายสลากผ่านระบบออนไลน์ ผ่านตู้เอทีเอ็ม