“พล.ท.พงศกร” ชี้อำนาจ คสช.จะยังแฝงตัวอยู่กับ กอ.รมน. เทียบ “เกสตาโป-นาซี” เข้าถึงทุกบ้าน
พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับบทบาทของ คสช.และ กอ.รมน.ที่จะยังคงมีอำนาจตามประกาศและคำสั่ง คสช.อยู่
โดย พล.ท.พงศกร ระบุว่า แม้ทุกวันนี้เราเชื่อกันว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญและการใช้อำนาจของ คสช.จะหมดไป ทุกคนจะกลับสู่ชีวิตปกติ แต่นั่นไม่เป็นความจริง เพราะจะยังมีกฎหมายต่างๆที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในร่างพระราชบัญญัติและระเบียบต่างๆของทางราชการมากมายไปหมด โดยในวันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องของ กอ.รมน.โดยเฉพาะ
โดยพล.ท.พงศกรกล่าวว่าในรอบสองสามวันที่ผ่านมานี้ มีความเคลื่อนไหวในส่วนของ กอ.รมน.ที่มีท่าทีว่าจะรับภารกิจต่อจาก คสช.และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไม่รับในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่าความเคลื่อนไหวของทหาร โดยเฉพาะใน กอ.รมน. จะยังคงมีบทบาทต่อไปในการควบคุมประชาชน
ส่วนหนึ่งคืออำนาจหน้าที่ๆ กอ.รมน.ได้รับมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/60 ที่ให้อำนาจในการประเมินภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในมาตรา 11 ที่มีการเพิ่มเติมให้แม่ทัพภาคเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับส่วนราชการต่างๆ เช่นอัยการสูงสุด ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการพลเรือนจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีปัญหามาก เพราะปกติในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม อำนาจต่างๆต้องแยกออกจากกัน เมื่อตำรวจและอัยการซึ่งควรจะแยกจากกันเพื่อตรวจสองถ่วงดุล กลับมาอยู่ด้วยกันภายใต้การดูแลของแม่ทัพภาค อาจจะเกิดการรวมศูนย์ความคิดขึ้นมาไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน
“เวลาอยู่ด้วยกันแล้วคนนั่งหัวโต๊ะเป็นแม่ทัพภาค อยู่เหนือผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่เหนืออัยการ อยู่เหนือตำรวจ อันนี้ก็เป็นปัญหาแล้ว แต่เดิม เคยมีคณะกรรมการแบบนี้จริงแต่ไม่มีอำนาจมาก คือเป็นเรื่องการขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันนี้เป็นลักษณะการสั่งการ แล้วสิ่งที่มันจะเกิดปัญหาก็คือ ในมาตรา 13 ที่บอกว่าเชิญคนก็ได้เอาวัตถุสิ่งของเอกสารราชการก็ได้ บุคคลทั่วไปก็ได้ แปลว่าประชาชนธรรมดานั่งอยู่กับบ้านก็มีคนมาเยี่ยมได้ ซึ่งจริงๆไม่ควรมีเลย” พล.ท.พงศกรกล่าว
นอกจากนั้นในมาตรา 13 ยังได้ถ่ายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รับมอบนโยบายต่อจากแม่ทัพภาค ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้การควบคุมของส่วนภูมิภาคไปแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่มีที่พึ่ง และจะเห็นว่าโครงสร้างเครือข่ายในการควบคุมประชาชน ตั้งแต่รัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เรื่อยลงไปจนถึงประชาชน อยู่ภายใต้การควบคุมของกลไกที่มาจาก คสช.
“ถ้าจะให้ผมนิยามแบบง่ายๆ มันคือเกสตาโปในสมัยนาซี เข้าถึงได้ทุกบ้าน เข้าถึงได้ทุกแห่ง และถ้าประชาชนอยากจะเรียกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ก็ต้องไปร้องที่องค์กรอิสระ ซึ่งสุดท้ายองค์กรอิสระก็อยู่ภายใต้การกำกับของ ส.ว.อีกที ซึ่ง คสช.เป็นผู้แต่งตั้งมา ดังนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้คือวงจรของคณะ คสช.ซึ่งไม่หมดไป” พล.ท.พงศกรกล่าว
พล.ท.พงศกร ยังระบุต่อว่า ในสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่กำลังจะทำกับภาคประชาชนก็คือการเสนอกฎหมายที่จะถอนอำนาจ คสช.ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆนั้น ตนเชื่อว่าในเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า ถ้าเราทำได้อย่างแข็งขันจริงและพรรคฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองด้วยกัน ในการถอนอำนาจของ คสช.เสีย เราจะทำได้สำเร็จ
แต่ถ้าขาดความร่วมมือจากประชาชนและการผลักดันร่วมไม้ร่วมมือจากทางภาคการเมือง เรื่องนี้จะไม่สำเร็จ และเราจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดขององค์กรบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นที่ปรารถนา และสุดท้ายสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะมีปัญหาในที่สุด