สำหรับ แบบจำลองเมรุลอยหลวงพ่อคูณ ที่จัดสร้างขึ้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบงานพระราชทานเพลิงศพ ถือเป็นอีกหนึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ของภูมิปัญญา ทางภาคอีสาน ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมที่นิยมสร้างประกอบเมรุลอยพระเถระชั้นผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ประติมากรรม เมรุลอยชั่วคราว สีขาว สวยงามยิ่งใหญ่ สะท้อนความเรียบง่ายของ พระเทพวิทยาคม หรือ “หลวงพ่อคูณ” ถูกประดิษฐาน ณ ฌาปนสถานชั่วคราว พุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมศึกษา และออกแบบมานานกว่า 1 ปี จนกระทั่งได้แบบที่ลงตัว
ซึ่งโจทก์ของการสร้างเมรุลอยที่เรียบง่าย คือหัวใจหลักตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ ฌาปนสถานชั่วคราว จึงเริ่มจากการออกแบบฐานเมรุลอย 8 เหลี่ยม โดยรอบมีองค์ประกอบคือ ธรรมมาสบุษบก 4 หลัง ส่วนเมรุลอยนกหัสดีลิงค์ สูงเท่ากับตึก 5 ชั้น ตามตำนานนกหัสดีลิงค์ ปากเป็นช้าง หางเป็นหงส์ เคลื่อนไหวได้ มีลายกลีบและเกสรดอกคูณปรากฏบนตัวนก ภายในตัวนก ด้านล่างจะเป็นโลงสแตนเลส บรรจุเตาเผาออกแบบพิเศษ
เตาเผามีกองฟืนจากไม้จิก 136 ต้น ซึ่งเป็นไม้อีสานโบรานนิยมใช้กับพระเกจิ ส่วนเตาเผาเป็นหีบศพบรรจุสรีระสังขาร โลงเป็นหีบเอวขันประกอบเกียรติยศ ด้านนอกรอบเมรุลอยตกแต่งจำลองเขาพระสุเมรุตามคติในพระพุทธศาสนา ชั้นนอกเรียกว่าชั้นกำแพงแก้ว จะมีทวารบาน คือพญานาค 8 ตนเป็นผู้เฝ้า ส่วนชั้นในเป็นบันไดนาคราช
รอบนอกสระอโนดาต มีสัตว์หิมพานต์ 32 ตัว มีสะพานนาคราชเชื่อมระหว่างมนุษย์กับสวรรค์ โดยทั้งรูปทรงและลวดลายถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แสดงถึงอัตลักษณ์ความโดดเด่นของชาวอีสาน ที่วิจิตรงดงาม แต่แฝงด้วยแนวความคิด สติปัญญา
อีกไม่นานเมรุลอยชั่วคราว จะถูกใช้เป็นที่เผาสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ ส่วน นกหัสดีลิงค์ จะถูกเผาพร้อมกันตามขนบประเพณี เพื่อส่งดวงจิตพระมหาเถระแห่งภาคอีสานสู่สรวงสวรรค์