ข่าวสดวันนี้ คิม ไทยแลนด์

‘คิม ไทยแลนด์’ เดินหน้าฟ้อง จยย.ยี่ห้อดัง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.62 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายอุเทน เหลืองแสงทอง หรือ คิม ไทยแลนด์วัย 41 ปี ที่อยู่…

Home / NEWS / ‘คิม ไทยแลนด์’ เดินหน้าฟ้อง จยย.ยี่ห้อดัง

ประเด็นน่าสนใจ

  • คิม ไทยแลนด์ เดินหน้าฟ้องจักรยานยนตร์ยี่ห้อดัง ซื้อมาใช้งาน 4 เดือน ต้องส่งซ่อม 3 ครั้ง
  • ก่อนหน้านี้เคยเจรจา 3 บริษัท ผู้ผลิตนำเข้า-จัดจำหน่าย-ซ่อมบำรุง ผ่าน สคบ แต่ก็ตกลงไม่ได้
  • การร้องขอครั้งนี้ ต้องการให้ศาลบังคับจำเลยส่งมอบคันใหม่ ถ้าไม่ได้ให้ซื้อคันพิพาทคืนไปพร้อมจ่ายค่าเสียโอกาส

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มิ.ย.62 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นายอุเทน เหลืองแสงทอง หรือ คิม ไทยแลนด์วัย 41 ปี ที่อยู่ 508/9 ถนนสุขุมวิท ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จ.สมุทรปราการ เดินทางมาพร้อมนายมเหสักข์ ซิววารี ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ฮาร์เลย์-เดวิดสัน (ประเทศไทย) จำกัดเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท อีสเทิร์น ไทย ไรเดอร์ จำกัดเป็นจำเลยที่ 2บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 ร่วมกันให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า , ผิดสัญญา และเรียกค่าเสียหาย

โดยฟ้อง บริษัท ฮาร์เลย์-เดวิดสัน (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิต ประกอบซื้อ นำเข้า ส่งออก ทำการตลาด จำหน่ายติดตั้ง ซ่อมบำรุง ให้คำปรึกษาทางเทคนิค รถมอเตอร์ไซต์ยี่ห้อ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) เพื่อจำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายทั่ว ประเทศ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า “บริษัทฮาเลย์-เดวิดสัน (ประเทศไทย) จำกัด” มีนายแอนดรูว์ โจเซฟ
เบนก้า หรือ นายธนบดี กุลกล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

บริษัท อีสเทิร์น ไทย ไรเดอร์ จำกัดจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ( Harley-Davidson) ให้แก่ผู้บริโภคโดยทั่ว ไป จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายชื่อ “บริษัท อีสเทิร์น มี น.ส.กัลศิริ อินทรภูวศักดิ์ นายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ นายวุฒิศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ นายอนุวัชร อินทรภูวศักดิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ ๓ ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ใช้ชื่อ “บริษัท อยุธยา แคปปิตอลออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน)” มีนายชานดาเชการ์ สุบรามาเนี่ยน คิสชูมันการัม นายไพโรจน์ ชื่นคฑ , นางกฤติยา ศรีสนิท กรรมการ

นายอุเทน เปิดเผยว่าเมื่อประมาณต้นปี 2561 ตนมีความประสงค์ที่จะซื้อรถจักรยานยนต์สำหรับออกทริปท่องเที่ยว ได้เห็นโฆษณาของจำเลยที่ 1ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ( Harley-Davidson) ว่าได้นำรถรุ่นยอดนิยมอย่าง Road King Special, Street Glide Special และ Road Glide Special มาออกแบบใหม่ให้ดูเข้มข้น ดุดัน และมีความทันสมัยในตลาดรถมอเตอร์ไซด์ทัวร์ริ่ง ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงสมรรถนะในการขับขี่ เหมาะสำหรับลูกค้าที่ชื่นชอบการขับขี่เพื่อท่องเที่ยว โดยรถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน รุ่น CVO เป็นรถมอเตอร์ไซด์แต่งพิเศษ

จากโรงงานของจำเลยที่ 1 ที่ได้ออกแบบใหม่แทบทั้งหมด และได้เพิ่มสมรรถนะให้พิเศษไปกว่าใครเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของความลงตัวด้านรูปลักษณ์และสมรรถนะที่รับรองว่าผู้ขับขี่จะต้องพึงพอใจ มีความปลอดภัยในการขับขี่ และลูกค้ำสามารถเป็นเจ้าของรถแต่งในสไตล์ตัวเองแบบลิมิเต็ด อิดิชั่น ส่งตรงจากโรงงานพร้อมการรับประกัน 2 ปี ไม่จำกัดระยะทาง

ตนหลงเชื่อจึงได้ติดต่อพนักงานขายของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ( Harley-Davidson) ของจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลรับรองคุณภาพและเงื่อนไขตามที่จำเลยที่ 1 ได้โฆษณาไว้ อีกทั้ง ยังรับประกันว่ารถจักรยานยนต์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เป็นรถจักรยานยนต์ที่มีคุณภาพระดับโลก

ทั้งนี้รุ่น CVO เป็นรถที่ได้รับความสนใจมากที่สุดทั่วโลกในปี ค.ศ.2018 เนื่องจากเป็นรุ่นพิเศษจากโรงงาน มีความปลอดภัยและสมรรถนะในการขับขี่สูงเพราะมีการออกแบบใหม่แทบทั้งหมด ใช้เครื่องยนต์ที่ใหญ่ที่สุดที่จำเลยที่ 1 เคยมีมาให้ในรถที่ประกอบจากโรงงาน ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ทำให้รถมอเตอร์ไซด์ CVO นั้นโดดเด่นเป็นพิเศษไม่เหมือนใคร

โดยรถจักรยานยนต์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ( Harley-Davidson) รุ่น CVO Road Glide มีราคาเริ่มต้น 2,886,000 บาท พร้อมการรับประกัน 2 ปี ไม่จำกัดระยะทาง

นายอุเทน กล่าวต่อ ตนหลงเชื่อจึงตกลงจองซื้อรถจักรยานยนต์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ( Harley-Davidson) รุ่นดังกล่าว กับจำเลยที่ 2 และต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 3 ในราคา 2,886,000 บาท โดยโจทก์ชำระเงินดาวน์จำนวน 865,800 บาท และมีข้อตกลงผ่อนชำระจำนวน 48 งวด งวดละ 42,088 บาท

นายอุเทน กล่าว ภายหลังจากที่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) ให้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าตนเองไม่สามารถใช้งานรถจักรยานยนต์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ( Harley-Davidson) คันดังกล่าวได้ตามที่คาดหวังและตามปกติได้เลย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2561 ตนนำรถจักรยานยนต์คันที่ซื้อไปออก
ทริปท่องเที่ยวที่จังหวัดนครนายก ขณะขับขี่ไปได้ระยะทางตามเลขไมล์ประมาณ 100 กิโลเมตร ด้วยความเร็วตามปกติ ปรากฏว่ามีกลิ่นเหม็นไหม้น้ำมันเครื่องออกมาจากเครื่องยนต์ รถมีอาการเร่งไม่ขึ้น และเครื่องยนต์ดับระหว่างขับขี่ โดยมีควันออกมาจากท่อ เป็นจำนวนมาก

เมื่อจอดพักซักระยะเครื่องก็จะสตาร์ทติด ซึ่งในระหว่างที่เกิดปัญหานั้นตนได้โทร.ติดต่อช่างขอคำแนะนำแก้ปัญหาเบื้องต้นและขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เมื่อกลับถึงบ้านจึงได้แจ้งให้ศูนย์บริการจำเลยที่ 2 มารับรถไปตรวจสอบซ่อมแซมแก้ไขให้เป็นปกติ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่อาจซ่อมแซมแก้ไขให้เป็นปกติได้

กล่าวคือ หลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้นำรถไปซ่อมแซมแก้ไขและแจ้งให้ตนทราบว่าทุกอย่างปกติแล้ว ได้ส่งมอบให้ตนกลับไปใช้งานตามปกติ ซึ่งตนได้นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวขับขี่ไปออกทริปท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ในระหว่างที่ขับขี่ด้วยความเร็วปกตินั้น ปรากฏว่ารถมีอาการเหมือนเดิมทุกอย่าง เครื่องยนต์มีกลิ่นเหม็นไหม้ รถเร่งไม่ขึ้น และเครื่องยนต์ดับระหว่างขับขี่กลางถนน ทำให้ตนไม่สามารถควบคุมรถได้เสี่ยงที่จะถูกรถยนต์คันอื่นชนด้านหลัง ตนได้แจ้งให้ศูนย์บริการจำเลยที่ 2 ให้มารับกลับไปตรวจสอบและขอให้ซ่อมแซมแก้ไขให้เป็นปกติทุกครั้ง เพราะมีความกังวลกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนถึงชีวิตในขณะขับขี่ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจแก้ไขให้เป็นปกติได้

โดยครั้งล่าสุดหลังจากที่จำเลยที่ 2 นำรถไปซ่อมแซมแก้ไขและส่งมอบรถคืนให้ตนแล้ว เมื่อประมาณวันที่ 27 ต.ค. 2561 ตนได้นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปขับขี่ออกทริปท่องเที่ยวอีกครั้งก็ปรากฏอาการเช่นเดิมอีกจนเครื่องยนต์ได้รับความเสียหายหนักไม่สามารถสตาร์ทติดได้เหมือนเดิมทุกครั้งและเกือบทำให้ตนเองได้รับอุบัติเหตุในระหว่างขับขี่ ตนจึงติดต่อขอให้จำเลยที่ 2 มารับรถกลับไปตรวจสอบ ซึ่งตนทราบจากช่างของจำเลยที่ 2 ว่าปัญหาเครื่องยนต์ดังกล่าวเกิดจากกระบวนการผลิตเครื่องยนต์ อยู่ระหว่างหาสาเหตุโดยใช้เวลากว่า 4 เดือนก็ยังไม่สามารถซ่อมแซมรถส่งมอบคืนตนได้

ตนจึงขอให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อ เปลี่ยนรถจักรยานยนต์คันใหม่ให้ เนื่องจากเครื่องยนต์มีปัญหาชำรุดบกพร่องและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ได้ และตนไม่อาจใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวต่อไปได้ เพราะหากจะต้องใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวต่อไปตนมีความหวาดกลัวและวิตกกังวลต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดปัญหาขึ้นอีก แต่จำเลยทั้งสามปฏิเสธความรับผิดชอบ

นายอุเทน กล่าวต่อ ก่อนฟ้องคดีนี้ ตนได้นำปัญหาดังกล่าวไปร้องเรียนต่อ สคบ (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์ โดยได้เชิญคู่กรณีทั้งสามมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแต่ไม่อาจตกลงกันได้
ตนจึงได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ในฐานะคู่สัญญาเช่าซื้อส่งมอบรถจักรยานยนต์คันใหม่ให้ตนภายในกำหนด 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่ก็ยังเพิกเฉยมิดำเนินการส่งมอบรถจักรยานยนต์คันใหม่ให้โจทก์แต่อย่างใด

การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว เป็นการผิดสัญญาต่อตน รถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน คันพิพาทไม่มีสมรรถนะและความปลอดภัยในการขับขี่สูงตามที่ได้โฆษณารับรองแก่ตน และตนไม่สามารถใช้งานได้ตามความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้เป็นปกติหรือที่มุ่งหมายโดยสัญญา ตลอดการใช้งานนับตั้งแต่ซื้อรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมา ตนนำไปใช้ประโยชน์ได้แค่เพียง 4 เดือน แต่มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์ทุกครั้งไม่เคยไปถึงจุดหมายปลายทางเลยสักครั้ง ในการใช้ขับขี่ออกทริปท่องเที่ยว ต้องเรียกให้ศูนย์บริการมารับกลับไปแก้ไขตรวจเช็คทุกครั้ง ทำให้ตนได้รับความเสียหายจึงขอเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดดังนี้

  1. ให้จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อเปลี่ยนรถจักรยานยนต์คันใหม่เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ระบุในสัญญาให้แก่โจทก์แทนคันเดิม
  2. หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถเปลี่ยนรถจักรยานยนต์คันใหม่ให้แก่โจทก์แทนคันเดิมได้ โจทก์ขอใช้สิทธิเลิกสัญญาคืนรถและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายคืนเงินดาวน์ และค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ตนชำระไปแล้วตามสัญญาจำนวน 1,328,768 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคืนโจทก์
  3. ให้จำเลยทั้วสามร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์ เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถใช้รถได้ นับตั้งแต่มีปัญหาเครื่องยนต์ชำรุดบกพร่องครั้งหลังสุดจนถึงวันฟ้องเป็น เวลา 243 วันในอัตราวันละ ๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน 121,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของจํานวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จคืนโจทก์

“ตนไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับเอากับจำเลยทั้งสามได้ จึงมีความจำเป็นต้องฟ้องต่อศาลเป็นคดีนี้เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง เรียกร้องความยุติธรรมในครั้งนี้ “นายอุเทน หรือ คิม ไทยแลนด์ กล่าวทิ้งท้าย