ประเด็นน่าสนใจ
- ”ช่อ พรรณิการ์” จัดหนัก “แผนปฏิรูปสื่อ” ซัดร่าง กม.ขัดหลักควบคุมกันเอง
- สภาวิชาชีพสื่อถูกแซกแทรงโดยรัฐ ระบุต้องไม่ให้การปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ปชช.เกิดขึ้นอีก
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายแผนปฏิรูปที่ส่งมารายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรในทุก 3 เดือน โดยกล่าวถึงแผนการปฏิรูปสื่อว่า การปฏิรูปสื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ซึ่งอะไรปฏิรูปแล้วก้าวหน้าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สำหรับแผนการปฏิรูปครั้งนี้รู้สึกยินดีที่ไม่คืบหน้า
เนื่องจากบอกว่าเป็นแผนการการปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐซึ่งไม่รู้หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ทั้งนี้ แนวทางปฏิรูปสื่อมีหลักเกณฑ์เป้าหมาย 2 แนวทาง คือ 1. รณรงค์การรู้เท่าทันสื่อ และ 2.การกำหนดกฎเกณฑ์มาตฐานจริยธรรมสื่อ แต่การทำทั้ง 2 อย่างตามแนวทางประชารัฐนั้น ดูแล้วไม่ได้เป็นแนวทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่จะกลับเป็นการลิดรอนและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยรัฐเอง
เพราะตัวกลไกสำคัญการปฏิรูปสื่อ คือ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อ ซึ่งตั้งเป้าออกเป็นกฎหมายได้ 2561 แต่ตอนนี้ยันติดชั้นกฤษฎีกา ไม่สามารถออกได้ เพราะถูกค้านอย่างหนักจากสื่อ และภาคประชาสังคมต่างๆ เนื่องจากในแผนปฏิรูปสื่อฉบับนี้ กลับไม่ได้ส่งเสริมหลักสื่อควบคุมกำกับควบคุมกันเอง
“สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สภาวิชาชีพสื่อ ในบรรดา 9 คน นั้น มาจากสมาคมสื่อ 5 คน และกรรมการ 5 คนนั้นคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ซึ่งสภาวิชาชีพสื่อ ทำหน้าที่ พิจารณารับจดแจ้งและเพิกถอนสมาชิกภาพขององค์กรวิชาชีพสื่อ กำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อมวลชน
นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม คณะหนึ่ง 7 คน ดูเรื่องละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชน ลงโทษทางปกครองได้นั้นก็มีต้นน้ำมาจากสภาวิชาชีพ แต่ปัญหา คือ บทเฉพาะการของร่างกฎหมายฉบับนี้ กลับล็อกสป๊กให้ปลัดสำนักนายก และเลขาธิการ กสทช. เป็น 2 กรรมการตั้งตั้นในกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งจะให้คุณให้โทษสื่อมวลชนทั้งประเทศ
นี่คือตัวแทนจากรัฐอย่างชัดเจน เป็นกรรมการชุดแรกที่จะกำหนดข้อบังคับทุกอย่าง ถามว่านี่คือแนวทางปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐ ที่หมายถึงรัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือรัฐแทรกแซงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนกันแน่” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า กรณีของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้นชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนเลขาธิการ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ แต่ผลงาน กสทช.รอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากการรวบรวมสถิติของ ไอลอว์ พบว่ามีการลงโทษสื่อไปแล้วอย่างน้อย 59 ครั้ง
ถามว่าเอนเอียงทางการเมืองหรือไม่นั้นไม่ขอตัดสิน แต่อยากให้พิจารณาจากสถิติที่รวบรวมโดยไอลอว์ ระหว่าง 22 พ.ค. 57 ถึง 22 ก.พ. 62 พบว่า สถานีที่ถูกลงโทษมากสุดคือ วอยซ์ทีวี 24 ครั้ง พีชทีวี 14 ครั้ง ทีวี 24 3 ครั้ง ทีวีธรรมกาย 2 ครั้ง สปริง 1 ครั้ง เนชั่น 1 ครั้ง ฟ้าวันใหม่ 1 ครั้ง และสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ 1 ครั้ง นี่คือผลงาน กสทช. ที่เลขาฯ จะไปนั่งในสภาวิชาชีพสื่อ ที่จะมีวาระต่อไปอีก 4 ปี
“ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่แปลกที่ร่างกฎหมายจะถูกต่อต้านโดยสมาคมสื่อ 30 องค์กร โดยให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายนี้ ไม่ได้อยู่บนหลักฐานคุ้มครองเสรีภาพสื่อ นั่นคือการกำกับคุ้มครองกันเอง สมาคมสื่อบอกตรงกันว่านี่คือการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างอิสระของสื่อมวลชน คำพูดนายกสมาคมวิทยุและโทรทัศน์ ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อ เห็นได้ชัดว่าต้องการเข้ามาควบคุมสื่ออย่างชัดเจนไม่มีเหนียมอาย ต่างจากรัฐบาลในอดีตที่ต้องการควบคุมสื่อ ก็ต้องทำอย่างลับๆ” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในยุค คสช. สื่อมวลชนถูกควบคุม มีการปล่อยให้สื่อที่สนับสนุน คสช. โจมตีฝั่งตรงข้ามโดยข้อมูลเท็จ บิดเบือน เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่มีการลงโทษ แต่นั่นคือเรื่องในอดีต เป็นสิ่งที่เกิดในยุคที่เป็นเผด็จการไม่มีสภาผู้แทนราษฎร
แต่วันนี้ เราในฐานะสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ให้การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนแบบที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. เกิดขึ้นอีก แผนการปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐที่อาจหมายถึงปิดหูประชาชนจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ในยุคที่มีสภาผู้แทนราษฎร เราต้องปกป้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน