ประเด็นน่าสนใจ
- พบการติดเชื้อซ้ำ ในบราซิล ซึ่งเป็นการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์กลายพันธุ์ E484K รายแรกในโลก
- เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้มีความเปลี่ยนแปลงในเซลล์มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
- สิ่งที่น่ากังวล คือ เชื้อสายพันธุ์นี้ มีความสามารถในการ “หลอก” ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ให้ไม่สามารถตรวจพบได้
- อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบข้อบ่งชี้ว่า เชื้อชนิดอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
เมื่อวันศุกร์ (8 ม.ค.) สำนักข่าวทางการบราซิลรายงานกรณีหญิงชาวบราซิลกลายเป็น “คนแรกของโลก” ที่กลับมาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “อี484เค” (E484K) ซ้ำอีกครั้ง
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและศึกษาดอร์ (IDOR) ในรัฐบาเอียทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจพบหญิงวัย 45 ปี ผู้มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม และมีผลตรวจโรคเป็นบวกอีกครั้งจากการติดเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ในเดือนตุลาคม
เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์อี484เค ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาใต้ เคยปรากฏอยู่ในบราซิลก่อนหน้านี้แล้ว แต่นี่นับเป็นผู้ป่วยรายแรกที่กลับมาติดเชื้อซ้ำด้วยเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์นี้ โดยผู้ป่วยหญิงรายดังกล่าวไม่มีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงในการติดเชื้อทั้งสองครั้ง
อย่างไรก็ดี เพื่อยืนยันกรณีติดเชื้อซ้ำดังกล่าว จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์จีโนมหรือพันธุกรรมของเชื้อไวรัสฯ ทั้งสองและเปรียบเทียบลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นโมเลกุล “ไพรม์” (prime) ของดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเชื้อไวรัสฯ ทั้งสองแตกต่างกัน
คณะนักวิจัยของสถาบันฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ เนื่องจากการกลายพันธุ์อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ขัดขวางการทำงานของแอนติบอดีในการรักษาผู้ป่วย โดยปัจจุบันบราซิลตรวจเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์อย่างน้อย 5 สายพันธุ์แล้ว
“การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนและตอกย้ำความจำเป็นของการรักษามาตรการควบคุมโรคระบาดใหญ่ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม และความจำเป็นของการเร่งรัดกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค”
บรูโน โซลาโน นักวิจัยของสถาบันฯ กล่าว
ที่มา – ซินหัว
เกี่ยวกับ SARS-CoV-2 E484K
สำหรับเชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์กลายพันธ์ุ E484K นี้ เป็นสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบและมีการแพร่กระจายมาในพื้นที่ของแอฟริกาใต้ ซึ่งผลการทดสอบวัคซีนก่อนหน้านี้ พบว่า ผลตอบสนองจากการใช้วัคซีนไม่ดีพอเท่าที่ควร
ซึ่งก่อนหน้านี้จะได้ยินข่าวถึงสายพันธุ์อังกฤษ หรือ N501Y ที่คาดว่าจะสามารถแพร่กระจายได้ดีกว่า แต่ผลการทดสอบของ Pfizer จากตัวอย่างเลือดของผู้ได้รับวัคซีนยังพบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงมากพอที่จะต้านไวรัสในสายพันธุ์อังกฤษนี้
แต่สายพันธุ์ E484K นี้ต่างออกไป มีการกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ รวมถึงในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ไวรัสมีสภาวะที่มีสภาพเป็นกลาง ส่งผลให้สามารถหลอก หรือหลบหนี ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในร่างกายของมนุษย์ตรวจจับหาเชื้อได้ยากขึ้น
และนั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้วัคซีนโควิด-19 ที่เราได้รับไปนั้น แม้ว่า วัคซีน จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ภูมิคุ้มกันกลับไม่สามารถตรวจจับหาเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ทั้งหมด
ระดับความอันตราย
ในขณะนี้ แม้ว่าจะพบสายพันธุ์ E484K ในหลายประเทศโดยเฉพาะทางแถบแอฟริกาใต้ แต่ยังไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เชื้อสายพันธุ์นี้ มีความอันตรายมากกว่าสายพันธุ์อื่นแต่อย่างใด