ประเด็นน่าสนใจ
- ทีมนักวิจัยประเทศจีน ใช้ผ้าคลุมแผ่นใยสังเคราะห์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาคลุม ที่ธารน้ำแข็งต๋ากู่ ในมณฑลซื่อชวน
- พบว่าน้ำแข็งที่ถูกปกคลุมด้วยผ้าคลุมนั้นละลายตัวน้อยกว่าน้ำแข็งส่วนที่ไม่ถูกปกคลุมราว 1 เมตร
- ทีมนักวิจัยจะนำวิธีการป้องกันความร้อนนี้ไปทดสอบกับธารน้ำแข็งแห่งอื่นในจีนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทีมนักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรนอร์ธเวสต์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กำหนดพื้นที่การทดลองขนาด 500 ตารางเมตร ที่ธารน้ำแข็งต๋ากู่ ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และใช้ผ้าคลุมแผ่นใยสังเคราะห์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาคลุมพื้นที่ดังกล่าว โดยระบุว่าการนำผ้าคุลมยักษ์มาห่มคลุมธารน้ำแข็งอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการละลายตัวของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลังจากผ่านไปราว 2 เดือนครึ่ง ทีมนักวิจัยพบว่าน้ำแข็งที่ถูกปกคลุมด้วยผ้าคลุมนั้นละลายตัวน้อยกว่าน้ำแข็งส่วนที่ไม่ถูกปกคลุมราว 1 เมตร
หวังเฟยเถิง หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่าวิธีนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผ้าคลุมในการป้องกันรังสีของดวงอาทิตย์และการถ่ายเทความร้อนบนพื้นผิวของธารน้ำแข็ง
“การละลายตัวของธารน้ำแข็งทั่วโลกมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยธารน้ำแข็งที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ตารางกิโลเมตรอาจหายไปตลอดกาลหากปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์”
“การวิจัยเกี่ยวกับธารน้ำแข็งทั่วโลกมุ่งเน้นไปที่กระบวนการและกลไกการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็ง แต่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการหาวิธีป้องกันการละลายของน้ำแข็งน้อยเกินไป” หวังเฟยเถิง กล่าว
เขากล่าวว่า ทีมนักวิจัยจะนำวิธีการป้องกันความร้อนนี้ไปทดสอบกับธารน้ำแข็งแห่งอื่นในจีนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และธารน้ำแข็งที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์
ที่มา : Xinhua