กรุงเทพมหานคร มาตรการ โควิด-19

กทม. ยกระดับทุกพื้นที่ 50 เขต ไม่ปิดร้านอาหารทุกประเภท

กทม. มีมติ ห้ามกินในร้าน ต้อง สั่งกลับบ้านหรือ take away เท่านั้นช่วงเวลา 1 ทุ่มถึง 6โมงเช้า

Home / NEWS / กทม. ยกระดับทุกพื้นที่ 50 เขต ไม่ปิดร้านอาหารทุกประเภท

ประเด็นน่าสนใจ

  • กทม. มีมติ ห้ามกินในร้าน ต้อง สั่งกลับบ้านหรือ take away เท่านั้นช่วงเวลา 1 ทุ่มถึง 6โมงเช้า
  • เริ่ม 5 ม.ค.64 ครอบคลุมร้านอาหารทุกประเภท ทั้งแผงลอย คาเฟ่ บุฟเฟ่ต์ หมูกระทะ ร้านอาหารในห้าง
  • ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การเดินทางข้ามจังหวัดยังไม่ห้ามแต่ขอผู้ที่มาจากจังหวัดเสี่ยงแจ้งเจ้าหน้าที่และกักตัวเอง 14 วัน พร้อมขยายหยุดเรียน และสถานศึกษาไปถึง 31 ม.ค.64

วันนี้ ( 04 ม.ค. 64 ) ที่ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณามาตรการเพิ่มเติมควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19)ในพื้นที่ กทม.

ล่าสุด ในเวลา 12.00 น. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มาตรการเพิ่มเติมควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) โดยกล่าวว่า กทม.เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุด ครอบคลุมทุกมาตรการ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาให้ “ ร้านอาหารทุกประเภท “ รวมทั้งร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านบุฟเฟ่ต์ ชาบู ร้านคาเฟ่ต่างๆ ให้มีการซื้อกลับบ้าน (Take Away) เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น. มีผลบังคับใช้ 06.00 น. ในวันที่ 5 ม.ค.

ส่วนมาตรการการให้ซื้ออาหารกลับบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เนื่องจากมีข้อมูลว่าการนั่งรับประทานอาหารนาน 5 นาที สามารถติดเชื้อได้ ส่วนช่วงเวลาอื่นนั้น 06.00-19.00 น. สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ โดยจะต้องมีมาตรการควบคุมเข้มข้น อาทิ ห้ามขายสุรา และผู้ใช้บริการห้ามดื่มสุรา เพราะจะเพิ่มเวลาในการรับประทานอาหารในร้าน และทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น รวมทั้ง บันทึกข้อมูลของลูกค้าและการรอคิว ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารคุมเวลาในการใช้บริการของลูกค้าเอง และ ประเมินความเสี่ยงภายในร้าน ขณะที่ร้านอาหารริมทาง สามารถขายได้ แต่ให้เข้มงวดในมาตรการสาธารณสุข

โดยวันนี้ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 28 ราย รวมยอดสะสม 229 ราย ขณะที่การตรวจคัดกรองเชิงรุก 3,1000 ราย พบ 10 ราย ในตลาดและโรงงาน โดยมีเขตสะพานสูง คันนายาว ปทุมวัน บางเขน พระโขนงที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
ส่วนการตรวจพบแรงงานโรฮิงญาที่ลักลอบเข้ากรุงเทพมหานคร หลังจากเดินทางมาจากจังหวัดกำแพงเพชร เบื้องต้นได้มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แล้ว ทำการตรวจเชื้อทั้ง 14 ราย อยู่ระหว่างการรอผลคาดรู้ผล 2-3 วัน โดยทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

ทั้งนี้ กรุงเทพมาหนคร ไม่ได้ห้ามให้ผู้เดินทางจากจังหวัดควบคุมสูงสุด ต้องกักตัว 14 วัน แต่ขอความร่วมมือ ให้ผู้ประกอบการ เฝ้าระวังแรงงานที่เดินทางกลับเข้ามาทำงาน ถึงอาการสี่ยงต่างๆสำหรับการตั้งด่านตรวจโควิด ทางโฆษกกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าไม่สามารถคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้ามาได้ 100% แต่จะเน้นตรวจในการขนคนเข้ามาจำนวนมาก โดยด่านไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมดเพียงแต่ช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เบื้องต้นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการปรับกำลังในการเฝ้าระวังตามด่านมากขึ้น ส่วนการจัดตั้งรพ.สนาม ในกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นจะไม่เน้นจัดสร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง แต่จะปรับใช้โรงแรมเป็น รพ.สนามแทน ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กทม.ใช้มาตรการเดียวกันทั้งหมดในการคุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต แต่เขตไหนที่มีความเสี่ยง หรือการแพร่ระบาดสูงให้ทางผู้อำนวยการเขต และสำนักอนามัย ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการสอบสวนโรค

ภาพ : วิชาญ โพธิ