ประเด็นน่าสนใจ
- ศบค. รณรงค์การโหลดใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” หลังมีการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19
- แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” จะช่วยติดตามและสอบสวนโรคให้ครอบคลุมทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น
- โหลดแอปฯหมอชนะ ได้ง่ายๆ สะดวก ทั้งแอนดรอยด์ และ ไอโอเอส
ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ระบาดรอบใหม่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เห็นชอบให้รณรงค์การโหลดใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) และทีมผู้เชี่ยวชาญคนไทย พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา
แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” จะช่วยติดตามและสอบสวนโรคให้ครอบคลุมทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้เจ้าหน้าที่ แพทย์ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น ระบบจะบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วย GPS และ Bluetooth เพื่อช่วยแจ้งเตือนประชาชนเมื่ออยู่ในบริเวณหรือใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรค โควิด-19 ให้สามารถเฝ้าระวัง และเข้าพบกับเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคได้ทันท่วงที
โหลดแอปฯหมอชนะ ได้ง่ายๆ สะดวก ทั้งแอนดรอยด์ (คลิก) และ ไอโอเอส (คลิก) เพียงแค่ค้นหาคำว่า “หมอชนะ” หรือ สแกน QR Code แล้วโหลด ใส่ข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นเท่านั้น ก็สามารถใช้งานได้ทันที
การรายงานผลเป็นค่าสีต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น
- สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
- สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
- สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
ข้อดีของแอปพลิเคชัน “หมอชนะ”
- ข้อมูลเชื่อมตรงกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- QR code สี แสดงความเสี่ยง เข้าใจง่าย ตามเกณฑ์กรมควบคุมโรค
- ช่วยจำกัดผู้ที่มีความเสี่ยง เข้าพื้นที่ปลอดภัย ด้วย QR code สี
- ได้ข้อมูลไทม์ไลน์จริงไม่หลงลืม หรือป้องกันการปกปิดข้อมูล และลดภาระหมอ พยาบาล ในการควบคุมโรคในวงกว้าง
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการเข้าไปดูข้อมูลส่วนบุคคล จะทำต่อเมื่อบุคคลมีการตรวจพบว่าติดโรคโควิด-19 โดยผู้ใช้งานและควบคุมข้อมูลได้ คือกรมควบคุมโรคหน่วยงานเดียวเท่านั้น
หากประชาชนสงสัยว่ามีอาการ หรือไปในพื้นที่เสี่ยง สัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ป่วย ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข