กฎหมาย ละครกรงกรรม ลักทรัพย์

จากละครสู่ข้อกฎหมาย ดูกรงกรรมแล้วอย่าทำผิด !!

กรงกรรม ละครที่ได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวขานของทุกคนในเวลานี้ ล่าสุดละครได้จบอวสานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากเนื้อเรื่องที่เป็นละครไทยแนวชีวิตย้อนยุค สะท้อนสังคม ทำให้มีผู้คนติดตามมากมายจนเรตติ้งทะยานขึ้นสูงทุบสถิติแบบฉุดไม่อยู่ รวมถึงในตอนที่ออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน เป็นตอนที่เกิดแฮชแท็ก #กรงกรรม จนติดเทรนด์การค้นหายอดนิยมเป็นอับดับ 2 ของโลก จากกระแสที่เกิดขึ้นต่อละครเรื่อง…

Home / NEWS / จากละครสู่ข้อกฎหมาย ดูกรงกรรมแล้วอย่าทำผิด !!

กรงกรรม ละครที่ได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวขานของทุกคนในเวลานี้ ล่าสุดละครได้จบอวสานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากเนื้อเรื่องที่เป็นละครไทยแนวชีวิตย้อนยุค สะท้อนสังคม ทำให้มีผู้คนติดตามมากมายจนเรตติ้งทะยานขึ้นสูงทุบสถิติแบบฉุดไม่อยู่ รวมถึงในตอนที่ออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน เป็นตอนที่เกิดแฮชแท็ก #กรงกรรม จนติดเทรนด์การค้นหายอดนิยมเป็นอับดับ 2 ของโลก

จากกระแสที่เกิดขึ้นต่อละครเรื่อง กรงกรรม มีเนื้อเรื่องที่เป็นการสะท้อนสังคมในหลายด้าน ทั้งเรื่องชีวิต ครอบครัว กรรม อีกทั้งยังมีเรื่องราวของตัวละครในแต่ละตัว ซึ่งแสดงพฤติกรรมที่เป็นการกระทำผิดทางกฎหมายในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลักขโมย ข่มขู่ลูกหนี้ รับของโจร และหมิ่นประมาท โดยวันนี้ MThai News ได้รวบรวมข้อกฎหมายเกี่ยวกับคดีต่างๆ ที่สะท้อนมาจากตัวละครในเรื่องกรงกรรมมาดังนี้

ภาพจากละครเรื่องกรงกรรม

กฎหมายอาญาเป็นอย่างไร?

เป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด และกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น เป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด

โทษทางอาญา

กฎหมายอาญาประกอบไปด้วยส่วนที่บัญญัติถึงความผิด และส่วนที่บัญญัติถึงโทษด้วย ส่วนโทษอาญาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่

  • ประหารชีวิต
  • จำคุก
  • กักขัง
  • ปรับ
  • ริบทรัพย์สิน

……

คดีลักทรัพย์

ซึ่งกฎหมายอาญาความผิดฐาน ลักทรัพย์ มาตรา 334 มีการบัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายอาญาว่า

“ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท

ฉากที่แม่ย้อยเป็นลม จากนั้นพิไลใช้จังหวะชุลมุนฉกสร้อยทองจากคอแม้ย้อยไป

ตัวอย่างฎีกาคดีลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2552

จำเลยใช้เลื่อยตัดกุญแจบ้านของผู้เสียหาย แล้วเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานของผู้เสียหายซึ่งเก็บไว้ในบ้านไป แม้ว่าจำเลยจะเบิกความอ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลยอยู่ โดยการบังคับชำระหนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่เจ้าหนี้บุกรุกเข้าไปเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปโดยพลการ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้เลื่อยตัดกุญแจแล้วเปิดประตูเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานที่เก็บอยู่ภายในบ้านซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่บ้านพักของ ป. ลูกหนี้และไม่รู้ด้วยว่าเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานใช่ของ ป. หรือไม่ไปเพื่อตีชำระหนี้ จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์

ในคดีตัวอย่างด้านบน แม้ว่าจำเลยจะเป็นเจ้าหนี้ แต่การบุกเข้าไปนำทรัพย์ภายในบ้านพัก ซึ่งเจ้าของบ้านล็อกไว้ นำทรัพย์ออกมาโดยไม่แน่ใจว่า เป็นของลูกหนี้หรือไม่ จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

……

คดีรับของโจร

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357

มาตรา 357

ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท”

ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่เรียกว่าเป็นของโจรนั้น หมายถึงเฉพาะตัวทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดเท่านั้น ถ้าตราบใดที่ตัวทรัพย์ยังไม่เปลี่ยนสภาพหรือไม่มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น อันจะเป็นเหตุที่ทำให้ทรัพย์นั้นสิ้นสุดการเป็นของโจรแล้ว ทรัพย์นั้นก็ยังคงเป็นของโจรอยู่ต่อไป

ฉากที่นายเชิดนำทองหรือสิ่งของมีค่าต่างๆ ที่ได้จากการลักทรัพย์มาจำนำไว้ที่พิไล (ภาพจากละครเรื่องกรงกรรม)

ตัวอย่างฎีกาคดีรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2553

โจทก์ให้การว่า นาย ก. และนาย ข. ทั้งสองคนร่วมกันลักน้ำมันดีเซลของผู้เสียหายหลายครั้ง โดยนาย ก. เบิกความว่า ได้นำน้ำมันที่ลักไปขายให้แก่จำเลยประมาณ 5 ครั้ง ห่างกันประมาณ 3 วัน ถึง 4 วัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก. นำน้ำมันดีเซลที่ลักไปขายให้แก่จำเลยรวม 5 ครั้ง แม้จะเป็นการรับซื้อทรัพย์อย่างเดียวกันของผู้เสียหายคนเดียวกัน แต่ก็เป็นการรับซื้อคนละวันเวลาต่างวาระกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาแยกการกระทำผิดแต่ละคราวออกจากกัน แล้วแต่ ก. จะนำน้ำมันดีเซลไปขายเมื่อใดก็จะรับซื้อไว้ จึงเป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรหลายกรรมต่างกันรวม 5 กระทง

…..

คดีหมิ่นประมาท

ฉากที่พิไลด่าทอลูกจ้างด้วยคำพูดดูหมิ่นเหยียดหยามในที่สาธารณะ และใส่ร้ายหาว่าเป็นชู้กับอาตงสามีตนเอง (ภาพจากละครเรื่องกรงกรรม)

ซึ่งมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่ด้วยกันคือ

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

าตรา 393 “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

แล้วทั้งสองมาตรานี้ต่างกันอย่างไร? อะไรคือดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท

ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ได้แบ่งแย่งการกระทำเป็น

  • ดูหมิ่น คือ แสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้เกิดความอับอายเช่น ด่าด้วยคำหยาบคาย การดูถูกต่างๆ หรือแม้แต่การถ่มน้ำลาย
    ตัวอย่าง นาย ก. ยืนด่า นาย ข. โดยไม่มีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วย มีเพียง 2 คนเท่านั้น
  • หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันประการจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เช่น นาย ก. ยืนชี้หน้าด่านาย ข. โดยที่มีนาย ค. ได้ยิน หรืออีกกรณีหนึ่งเช่น นาย ก. ด่านาง ข. ให้นาย ค. ฟัง โดยที่ นาง ข. ไม่ได้อยู่ด้วย ก็ถือเป็นการหมิ่นประมาท

ดูหมิ่นคนตาย ก็ผิด

นอกจากนี้ กฎหมายยังได้ระบุไว้อีกด้วยว่า แม้ว่า ผู้ที่ถูกกล่าวถึงจะได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ถ้าญาติได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ถือเป็นการกระทำผิดได้

มาตรา 327 “ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้น น่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ใน มาตรา 326 นั้น”

ตัวอย่างฎีกาคดีหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541

จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายเมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ จำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า “มึงเป็นเมียน้อยสารวัตรส.อย่ามาทำใหญ่ให้กู้เห็นนะ”ต่อหน้า พ.ซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551

การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า “ไอ้ทนายเฮงซวย” จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393

…..

คดีปล่อยเงินกู้และเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

ฉากที่พิไลปล่อยเงินกู้ให้กับชาวบ้าน และคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงจนชาวบ้านไม่สามารถนำเงินมาจ่ายให้ได้ (ภาพจากละครเรื่องกรงกรรม)

มาตรา 4 บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง
การให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้
(๒) กําหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจํานวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืม
หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนด หรือ
(๓) กําหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ หรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

ตัวอย่างฎีกาคดีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560

จทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555

ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

…..

คดีข่มขู่ลูกหนี้

ในละครเป็นฉากที่พิไลบุกไปทวงหนี้จากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านขอผ่อนผันไปก่อนพิไลจึงด่าทอด้วยถ้อยคำดูถูกต่อหน้าสาธารณชน รวมถึงข่มขู่ต่างๆ นาๆ สำหรับคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีการเผยแพร่ประกาศเรื่อง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศ คือ ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้ได้มีข้อห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้

  1. การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
  2. การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
  3. การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)
  4. การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
  5. การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
  6. การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน
  7. มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

สำหรับบทลงโทษ บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

> เปิดข้อกฎหมายทวงหนี้ ห้ามข่มขู่-ประจาน

ตัวอย่างฎีกาคดีข่มขู่ลูกหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553

ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง

กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม

…..

คดีการทำร้ายข่มขู่ผู้อื่น

ในละครเป็นฉากที่นายเชิดทราบว่าติ๋มปิดบังเรื่องที่รู้จักกับเรณู จากนั้นจึงไปทำร้ายร่างกายติ๋มโดยใช้มีดกรีดหน้า และข่มขู่ว่าหากนำเรื่องที่ฉกสร้อยทองของเรณูไปบอก จะฆ่าพ่อแม่ของติ๋ม

มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่างฎีกาคดีทำร้ายข่มขู่ผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11466/2554

จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที

จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

….

คดีฆ่าคนตายโดยบันดาลโทสะ

 มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ฉากที่แม่ย้อยพลั้งมือใช้หมอนกดหน้าอาม่าจนสิ้นใจ หลังถูกอาม่าด่าทอเสียๆ หายๆ และด่าว่าเป็นโสเภณี (ภาพจากละครเรื่องกรงกรรม)

หลักเกณฑ์ในเรื่องของการบันดาลโทสะ ประกอบไปด้วย

  • ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
  • การถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
  • ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ

บันดาลโทสะตามกฎหมาย หมายถึงถูกข่มเหงอย่างร้างแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และกระทำต่อผู้ข่มเหงในทันทีทันใด การข่มเหง หมายถึง รังแก แกล้ง หรือทำให้รู้สึกอับอาย หรือข่มเหงน้ำใจ เช่น ด่าว่าแม่ของผู้กระทำผิดเป็นโสเภณี เป็นการข่มเหงผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

ตัวอย่างฎีกาคดีฆ่าคนตายโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7552/2551

จำเลยเป็นบิดาของผู้เสียหาย คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุราจนเมา จำเลยได้ไล่ให้ผู้เสียหายไปนอนที่บ้าน ไม่ให้นอนที่กระท่อมของจำเลย ผู้เสียหายไม่ยอมไป ได้ด่าจำเลยเสียๆ หายๆ ด่าว่า พ่อหัวควย พ่อเหี้ย พ่อสัตว์ ไม่รักลูก แล้วผู้เสียหายกลับออกไป 2 ถึง 3 นาทีได้กลับมาใหม่เพื่อมาเอาห่อยาเส้น

จำเลยไล่ผู้เสียหายกลับไปนอนที่บ้านอีกครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ยอมไป กลับด่าจำเลยเช่นเดียวกับครั้งแรกและด่าให้อวัยวะเพศชายอีก ทั้งผู้เสียหายมีมีดยาว 1 ศอกอยู่ในย่ามและท้าจำเลยให้ออกมาฟันกัน ประกอบกับโจทก์ฎีการับว่า จำเลยโกรธแค้นที่ผู้เสียหายไม่เคารพยำเกรงและด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคาย ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นบิดาใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

โดยข้อกฎหมายทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ MThai News ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง โดยอ้างอิงมาจากพฤติกรรมของตัวละครในเรื่องกรงกรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นภาพและเข้าใจถึงกฎหมายได้มากยิ่งขึ้น


อ้างอิงข้อมูลจาก deka.supremecourt.or.th , www.lawyerthailand.bizwichianlaw.blogspot.com, www.lawyers.in.th, www.sappaneti.com, กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ภาพประกอบ ละครเรื่องกรงกรรม