พระอัครมเหสี ราชวงศ์จักรี สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระราชินีสุทิดา

พระนาม ‘สมเด็จพระราชินี’ แห่งราชวงศ์จักรีไทย

เนื่องด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระราชโองการให้สถาปนา…

Home / NEWS / พระนาม ‘สมเด็จพระราชินี’ แห่งราชวงศ์จักรีไทย

เนื่องด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว

จึงมีพระราชโองการให้สถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป

ในโอกาสนี้ MThaiNews  ขออนุญาตรวบรวมพระนามสมเด็จพระราชินี แห่งราชวงศ์จักรี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทุกรัชกาล เพื่อเป็นข้อมูลความรู้แก่ผู้อ่านทุกท่าน

พระภรรยาพระเจ้าแผ่นดิน

ตามโบราณราชประเพณี เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศพระภรรยา ให้มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดลำดับพระเกียรติยศแห่ง ‘พระภรรยาเจ้า‘ และ ‘บาทบริจาริกา‘ ดังนี้

พระภรรยาเจ้า หมายถึง ภรรยาของพระเจ้าแผ่นดิน ที่มีพระกำเนิดเป็นเจ้า ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระฐานันดรศักดิ์ของพระภรรยาเจ้า ได้กำหนดไว้ว่ามี 4 ขั้น คือ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระราชเทวี และพระอรรคชายา

พระอัครมเหสีเป็นพระอิสริยยศพระภรรยาเอกในพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นพระมารดาขององค์รัชทายาท ในอดีตนั้นพระอัครมเหสีมีคำนำพระนามแตกต่างกันแล้วแต่รัชสมัย อาทิ กรมหลวงบาทบริจาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี พระนางนาฎบรมอัครราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

บาทบริจาริกา หมายถึง ภรรยาที่เป็นสามัญชนของพระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราช และเจ้าฟ้า คือ มีฐานันดรตั้งแต่ “หม่อมราชวงศ์หญิง” ลงไป โดยมีคำนำหน้านามว่า เจ้าจอม

โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า เมื่อแรกใช้นำหน้าประกอบการเรียกพระสนมที่เป็นคนโปรดว่า จอมพระสนม หรือ เจ้าจอมพระสนม แต่เวลาพุดจะย่อตัดคำว่า พระสนม ออก เหลือเพียง จอม หรือ เจ้าจอม และหากรับราชการจนมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาจะได้เลื่อนเป็น เจ้าจอมมารดา โดยบาทบริจาริกามีลำดับชั้น 4 ชั้น คือ พระสนมเอก พระสนม เจ้าจอม และนางอยู่งาน

การแบ่งลำดับชั้น ‘พระอัครมเหสี’

สมเด็จพระอัครมเหสี คือพระมเหสีเอก ผู้เป็นใหญ่เหนือพระมเหสีอื่นๆทั้งปวง มีลำดับชั้นดังนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี หรือพระราชินี และเคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี แต่ไม่เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนมีการสถาปนาตำแหน่งพระบรมราชินีนาถขึ้นมา เมื่อมีตำแหน่งพระบรมราชินีนาถแล้ว ก็ไม่มีการสถาปนาพระอัครมเหสีในตำแหน่งพระบรมราชเทวีอีก เสมอด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอัครราชเทวี เป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีอีกตำแหน่งหนึ่ง

พระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี เป็นตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่ 2

พระนางเจ้าฯ พระราชเทวี เป็นตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่ 3

พระนางเธอฯ หรือพระนางเธอ พระองค์เจ้าฯ เป็นตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่ 4

พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าฯ เป็นตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่ 5

พระวรราชชายาฯ เป็นตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่ 6

พระราชชายาฯ เป็นตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่ 7

พระนามสมเด็จพระราชินี แห่งราชวงศ์จักรี

(รัชกาลที่ 1) – สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า นาค เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2280 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระธิดาของพระชนกทอง ณ บางช้าง และสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี เป็นอรรคชายาเดิม ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลั

(รัชกาลที่ 2) – สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน ต่อมาได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระชายา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

(รัชกาลที่ 3) – ไม่มีการสถาปนาพระราชินี

(รัชกาลที่ 4) – (ไม่มีการสถาปนาพระราชินี) มีพระภรรยาเจ้าชั้นสูงสุดในตำแหน่ง พระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และ สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระราชเทวี (พระชนนีของรัชกาลที่ 5)

(รัชกาลที่ 5) – สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(รัชกาลที่ 6) – สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี สมเด็จพระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (สุจริตกุล) ทรงดำรงอิสริยยศสมเด็จพระราชินีอยู่ 2 ปี 8 เดือน รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศเปลี่ยนอิสริยยศ ลดลงเป็น พระวรราชชายา และไม่ได้สถาปนาพระราชินีพระองค์ใหม่

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

(รัชกาลที่ 7) – สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นพระอัครมเหสีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรปและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หลังจากพระราชสวามีสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 พระองค์ประทับอยู่ประเทศอังกฤษจวบจนพระราชสวามีเสด็จสวรรคต และเสด็จนิวัตกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2492 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

(รัชกาลที่ 8) – ไม่มีการสถาปนาพระราชินี และไม่มีพระมเหสี

(รัชกาลที่ 9) – สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

(รัชกาลที่ 10) – สมเด็จพระราชินีสุทิดา

สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. พ.ศ. 2521 มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระราชินี” ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส

และยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) อีกทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ก่อนที่พระองค์จะทรงได้รับพระราชโองการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว