นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี (Thailand-Turkey Free Trade Agreement : THTRFTA) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2562 ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อเสนอรายการสินค้าที่จะลดและยกเลิกภาษีระหว่างกัน เพื่อหารือต่อเนื่องในด้านข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด พร้อมแลกเปลี่ยนข้อเสนอรายการสินค้าที่จะลดและยกเลิกภาษีระหว่างกัน โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ไทยเรียกร้องให้ตุรกีเปิดตลาดให้เพิ่มเติม ได้แก่ ผลไม้ ผัก น้ำตาล เครื่องปรุงรส และสินค้าเกษตรแปรรูป
ภาพรวมมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยและตุรกี 3 ปี (ปี 2559 – 2561) เฉลี่ย 5.7 พันล้านบาท โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเฉลี่ย 4.7 พันล้านบาท สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว อาหารปรุงแต่งเพื่อใช้บริโภค ยางธรรมชาติยางแผ่นรมควัน และน้ำยางธรรมชาติ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรเฉลี่ย 1 พันล้านบาท สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญได้แก่ น้ำผลไม้ แป้งข้าวสาลี เมล็ดดอกคำฝอยหรือเมล็ดฝ้าย ขนมที่ทำจากน้ำตาล น้ำมันที่ได้จากธัญพืชจำพวกเมล็ดทานตะวัน และอาหารปรุงแต่ง
ที่ผ่านมา ไทยนับเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรมาโดยตลอด โดยปี 2559 ได้ดุลการค้าสินค้าเกษตร 3.3 พันล้านบาท ปี 2560 ได้ดุลการค้าสินค้าเกษตร 4.8 พันล้านบาท และปี 2561 ได้ดุลการค้าเกษตร 3 พันล้านบาท ซึ่งการทำความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ระหว่างไทยกับตุรกีจะเป็นการเปิดประตูการค้าสู่ภูมิภาคระหว่างกัน โดยไทยสามารถเป็นประตูไปสู่อาเซียน ในขณะที่ตุรกีสามารถเป็นประตู่ไปสู่ยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง
เนื่องจากตุรกีมีอัตราภาษีสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ระหว่างร้อยละ 25-50 นับว่าเป็นประเทศที่เก็บอัตราภาษีสินค้าเกษตรค่อนข้างสูง ดังนั้น หากเจรจาเป็นผลสำเร็จ จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม การเจรจาในครั้งนี้ นับว่าความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และจะมีการประชุมครั้งที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคม 2562 โดยกำหนดเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2563