กองทัพบก โดยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ บริเวณท้องสนามหลวง
กองทัพเรือ โดยฐานทัพเรือกรุงเทพ ทำการยิงสลุต ณ บริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม
กองทัพอากาศ โดยกรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน / ทำการยิงสลุต บริเวณโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
ในวันที่ 4 พฤษภาคม จะทำการยิง 3 ช่วง
ช่วงแรก เวลา 10.09 น. ยิงสลุตหลวงพิเศษ จำนวน 101 นัด เริ่มยิงเมื่อ เลขาธิการพระราชวังไขสหัสธาราอันเจือด้วยน้ำเบญจคงคาและน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 4 สระ
ช่วงที่ 2 เวลา 10.59 น. จำนวน 101 นัด ยิงเมื่อพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ ปืนโบราณ 4 กระบอก จะทำการยิงกระบอกละ 10 นัด (รวมเป็น 40 นัด) ขณะเดียวกัน ปืนใหญ่จะทำการยิงสลุตจำนวน 101 นัด
ช่วงที่ 3 เวลา 14.20 น. ยิงสลุตหลวง 21 นัด เริ่มยิงเมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญนสิงหาสน์ โดยปืนใหญ่จะทำการยิงสลุตจำนวน 21 นัด
วันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 16.30 น. ยิงสลุตหลวงจำนวน 21 นัด เริ่มยิงเมื่อมีการยาตราริ้วขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยปืนใหญ่จะทำการยิงสลุตจำนวน 21 นัด
วันที่ 6 พฤษภาคม เวลา 16.30 น. ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัดเริ่มยิงเมื่อเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท โดยปืนใหญ่จะทำการยิงสลุตจำนวน 21 นัด
ทั้งนี้ ข้อแตกต่างของการยิงสลุตหลวง กับการยิงปืนใหญ่ คือ การยิงสลุตหลวง จะเป็นการยิงปืนใหญ่ที่มีขนาดลำกล้องไม่เกิน 120 มิลลิเมตร โดยใช้ ปืนใหญ่ไม่น้อยกว่า 4 กระบอก เพื่อเป็นการถวายคำนับต่อองค์พระมหากษัตริย์ จำนวน 21 นัด ส่วนการยิงปืนใหญ่ที่ใช้ฝึกทั่วไป จะมีขนาด 105 มิลลิเมตร และ 155 มิลลิเมตร
การยิงสลุตหลวง เป็นธรรมเนียมที่ถูกอารยะประเทศทั่วโลกยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล การยิงสลุต คือการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำ หรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ
จุดเริ่มต้นของธรรมเนียมการยิงสลุต เล่ากันว่า ในสมัยโบราณ เรือสินค้าที่ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในระยะทางไกล จำเป็นจะต้องมีปืนใหญ่ไว้คุ้มครองสินค้าบนเรือ และต้องมีการบรรจุดินปืนในกระบอกปืนไว้ก่อน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมหากมีกรณีฉุกเฉิน แต่เมื่อเรือเดินทางไปถึงท่าเรือของประเทศที่ทำการค้าด้วย ต้องยิงปืนใหญ่ที่บรรจุแต่ดินปืนออกไปให้หมด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามาอย่างมิตร ไม่ใช่ศัตรู ตั้งแต่นั้นมาจึงได้เกิดเป็นประเพณีการยิงสลุตขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกันระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน อันเป็นประเพณีที่ชาวเรือได้สืบทอดกันต่อมาจวบจนปัจจุบัน
แรกเริ่มเดิมทีประเพณีการยิงสลุตได้กำหนดตัวเลขการยิงเอาไว้ที่จำนวน 7 นัด ซึ่งในขณะนั้นทางทวีปยุโรปถือว่าเป็นเลขมงคล เพราะเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน หรือเหตุผลอีกกระแสหนึ่งที่ว่าบนเรือรบแต่ละลำมีปืนใหญ่ลำละ 7 กระบอก จึงต้องยิงให้เคลียร์หมดทุกกระบอก กระบอก ละ 1 นัด และยังมีธรรมเนียมต่อไปอีกว่า เมื่อเรือสินค้าได้ยิงให้แก่เจ้าของจำนวน 7 นัดแล้ว ทางป้อมปืนใหญ่ของชาติเจ้าของท่าจึงต้องยิงตอบออกมาเป็นจำนวน 3 เท่า ซึ่งก็คือ 21 นัด ในเวลาต่อมาได้มีการทำความตกลงกันใหม่ว่าควรให้ทั้ง 2 ฝ่ายยิงในจำนวน 21 นัดเท่าๆ กัน โดยอังกฤษเป็นชาติแรกในการวางกฎระเบียบการยิงสลุต 21 นัด และได้ถือเป็นกติกาสากลสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในประเทศไทยมีการยิงสลุตครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีในบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวถึงเรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถึงป้อมวิชเยนทร์ (ป้อมวิชัยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม กองทัพเรือ ในปัจจุบัน)
มองซิเออร์คอนูแอล กัปตันเรือได้มีใบบอกเข้าไปถามทางราชสำนักอยุธยาว่า จะขอยิงสลุตให้เป็นเกียรติแก่ชาติสยาม ทางราชสำนักจะขัดข้องไหม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (มองซิเออร์คอม เดอร์ ฟอร์แบงก์ นายทหารชาวฝรั่งเศส) ผู้รักษาป้อมในขณะนั้น อนุญาตให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้ ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระเพทราชา ทรงไม่โปรดปรานฝรั่งเศส จึงทำให้ธรรมเนียมการยิงสลุตได้ถูกยกเลิกไป
ธรรมเนียมการยิงสลุต กลับมารื้อฟื้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ต้อนรับ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2398 ต่อมาในปี พ.ศ.2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.125 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การยิงสลุตหลวง และการยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ข้าราชการ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตรา พระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ คือ การยิงสลุต ร.ศ.131 (พ.ศ.2455) กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท คือ
– สลุตหลวง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน 21 นัด และสลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน 101 นัด
– สลุตข้าราชการ
– สลุตนานาชาติ
พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131 ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2483 จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่ เริ่มเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2491 เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยกำหนดข้อบังคับไว้โดยสรุปดังนี้
– กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า 4 กระบอก มีขนาดลำกล้องไม่เกิน 120 มิลลิเมตร
– ห้ามยิงตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ 3 ประเภท เช่นเดียวกับพระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.131
ส่วนหลักเกณฑ์การยิงสลุตในปัจจุบัน หากเป็นงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชินีหรือสมเด็จพระยุพราช รวมถึงงานต้อนรับพระมหากษัตริย์ หรือประมุขแห่งรัฐ ยิงสลุตจำนวน 21 นัด / ถ้าเป็นระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(ที่เป็นทหาร) ผู้บัญชาการทหารเรือ จอมพลเรือ และเอกอัครราชทูต ยิงสลุต 19 นัด / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(ที่เป็นพลเรือน) พลเรือเอก และเอกอัครราชทูตพิเศษ ยิงสลุต 17 นัด / พลเรือโท และอัครราชทูต ยิงสลุต 15 นัด / พลเรือตรี และราชทูต ยิงสลุต 13 นัด (สามเหล่าทัพยศเท่ากัน ยิงสลุตเท่ากัน) / อุปทูตยิงสลุต 11 นัด / กงสุลใหญ่ ยิงสลุต 9 นัด