ละครโทรทัศน์ไทย ละครไทยเรื่องแรก เกร็ดความรู้

ประวัติ ละครโทรทัศน์ไทย ละครไทยเรื่องแรก สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน

ก่อนที่จะมีละครไทยให้ได้ชมทางโทรทัศน์อย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในอดีตเราไปดูกันว่า ละครไทยมีจุดเริ่มต้น ความเป็นมาอย่างไร

Home / Entertainment / ประวัติ ละครโทรทัศน์ไทย ละครไทยเรื่องแรก สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน

ก่อนที่จะมีละครไทยให้ได้ชมทางโทรทัศน์อย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในอดีตเราไปดูกันว่า ละครไทยมีจุดเริ่มต้น ความเป็นมาอย่างไร เรื่องไหนคือเรื่องแรก

ประวัติความเป็นมา ละครโทรทัศน์ไทย

ขอบคุณคลิปจาก : BACKbone MCOT

สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ละครไทยเรื่องแรก ฉายทางสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทย

หลังจากที่ประเทศไทยเปิดสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก ต่อมาอีก 2 เดือน จึงเริ่มมีละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือเรื่อง สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ของนายรำคาญ (ประหยัด ศ. นาคะนาท) นำแสดงโดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ โชติ สโมสร และ นวลละออ ทองเนื้อดี ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2499

ภาพใช้ประกอบเนื้อหาไม่ใช่ละครสุริยานีไม่ยอมแต่งงาน

ละครโทรทัศน์ในยุคนั้นเป็นการแสดงสด ส่วนละครพูดที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ เป็นละครสั้นจบในตอน เนื่องจากห้องส่ง (สตูดิโอ) มีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องใช้ฉากจำกัด นอกจากนี้นักแสดงยังจำบทละครไม่ได้ จึงต้องมีการบอกบทขณะแสดงด้วย ในปีแรก ๆ มีละครโทรทัศน์เพียง 6 เรื่อง อีก 5 เรื่องได้แก่ กระสุนอาฆาต (ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2499) ,ดึกเสียแล้ว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499), น้ำสาบาน (ออกอากาศเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2499), ศัตรูลับของสลยา (ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2499) และ ง่ายนิดเดียว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2499)

ลักษณะของละครไทย

ในอดีตละครโทรทัศน์ไทย มีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูง ตัวละครมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว สามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending) มีการนำมาทำซ้ำกันบ่อยครั้ง มีขนบการเล่าเรื่อง ตัวละคร และสูตรที่ค่อนข้างตายตัว ละครส่วนใหญ่เป็นไปตามลักษณะดังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก

  • เป้าหมายหลักคือมีตอนจบที่สมบูรณ์แบบ ให้ตัวละครนำแต่งงานกับคู่ครองของตน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
  • มีการกำหนดคู่รักหลักสองคนตั้งแต่เปิดเรื่อง ซึ่งผู้ชมสังเกตได้โดยง่าย มักเป็นดาราละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคนั้น เป็น “พระเอก” และ “นางเอก”
  • มีตัวโกงเป็นหญิงอย่างน้อย 1 คนเป็นเรื่องปกติ บุคคลนี้มักตกหลุมรักพระเอก และพยายามขัดขวางความรักของคู่พระ-นาง พยายามเป็นแฟนกับพระเอก ขณะเดียวกันพยายามกำจัดนางเอกไปด้วย ตัวละครนี้มีลักษณะตายตัวมักมีฐานะร่ำรวย ภูมิหลังดี พฤติกรรมไม่ดี และคอยบงการ ตัวละครเหล่านี้บางตัวเป็นผีหญิงที่ชั่วร้าย ปกติตัวละครเหล่านี้เรียก “นางอิจฉา”
  • ตัวละคร LGBT มักใช้เป็นบทตลกคลายเครียด ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น สะใภ้ลูกทุ่ง
  • ปมในเรื่องทั้งหมดต้องคลี่คลายในตอนจบ ทุกฝ่ายให้อภัยกัน ตัวโกงถูกลงโทษ คนดีได้รางวัล
  • ละครไทยมักเป็นละครประโลมโลก กล่าวคือ มีการแสดงเกินจริง การกระทำเหมือนอยู่บนละครเวที ตัวโกงหญิงมีการกรีดร้องดิ้นพล่าน

พ.ศ. 2501 ยุคเริ่มเฟื่องฟูของละครไทย

ละครโทรทัศน์เริ่มได้รับความนิยมราวปี พ.ศ. 2501 นักแสดงละครเวทีเริ่มหันมาเล่นละครโทรทัศน์กันมากขึ้น ช่อง 4 มีผู้นิยมชมกันมาก ส่วนสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ช่อง 7 หรือ ช่อง 5 ในปัจจุบันก็เริ่มบุกเบิกด้านละครโทรทัศน์มากขึ้น ส่วนใหญ่จะนำเรื่องละครเวทีมาทำใหม่ แต่ก็มีเรื่องที่แต่งสำหรับละครโทรทัศน์มากขึ้น ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505-2510 ทั้ง 2 สถานีแข่งขันผลิตละครดี ๆ มาออกอากาศจำนวนมาก แต่กิจการละครโทรทัศน์ก็เริ่มเสื่อมไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องยาวกลับมาได้รับความนิยม

ละครโทรทัศน์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมีการใช้เทปบันทึกภาพแทนไทยทีวีสีช่อง 9 หรือช่อง 4 เดิม มีการจัดละครโทรทัศน์มากกว่าช่องอื่น ๆ ออกอากาศตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในลักษณะละครน้ำเน่าของอเมริกาโดยละครเรื่อง ทัดดาวบุษยา เมื่อ พ.ศ. 2519 ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีการผลิตละครแนวนี้มากขึ้น ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2522 ช่อง 5 ได้ผลิตละครเรื่อง 38 ซอย 2 ซึ่งถือว่าเป็นละครสำหรับครอบครัวครั้งแรก มีคติธรรมในการดำเนินชีวิตครอบครัว

ในปี พ.ศ. 2523 คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ได้มีคำสั่งให้งดออกอากาศในช่วงเวลา 18.30-20.00 น. เพื่อให้ประหยัดพลังงาน จึงทำให้ละครได้รับความนิยมลดลง พร้อมกันนั้นภาพยนตร์จีนก็เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 กบว. ได้ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ให้เสนอรายการของไทยแทนรายการต่างประเทศ ในช่วงเวลาหลังข่าว 20.00 น. จึงทำให้ละครไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จึงมีละครโทรทัศน์ในช่วงหลังข่าว 20.00 น. กันทุกช่อง ได้ดำเนินยุทธวิธีนี้มาจนปี พ.ศ. 2530 แต่บางช่องมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีการจัดรายการในช่วงหลังข่าวอยู่บ้าง

สำหรับละครแนวซิตคอม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มเมื่อใด แต่มีการสันนิษฐานว่า ละครชุด นุสรา (พ.ศ. 2503) เป็นละครแนวซิตคอมเรื่องแรก ได้รับอิทธิพลจากละครของสหรัฐอเมริกาเรื่อง I Love Lucy ละครชุด นุสรา เป็นละครเบาสมองชุดสั้นจบในตอน มีความยาว ตอนละ 30 นาที มีผู้แสดงชุดเดียวกันตลอด แต่เรื่องที่ผลิตเรื่องที่สองไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีรูปแบบละครรูปแบบนี้อีกหลายเรื่องเช่น ผู้พิทักษ์ความสะอาด, ยุทธ-จักรนักคิด, สาธรดอนเจดีย์, พิภพมัจจุราช, หุ่นไล่กา, บาปบริสุทธิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามละครแนวซิตคอมเริ่มได้รับความนิยมในปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว

เมื่อช่อง 3 เปิดสถานี มีละครเรื่องแรก ๆ ได้แก่ เขมรินทร์ – อินทิรา, แม่หญิง, สะใภ้จ้าว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ช่อง 3 ได้เปิดละครสมัยใหม่อย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2519 โดยมีภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ (มีชูธน) เป็นผู้บุกเบิกจากละครแบบเก่าที่มีคนบอกบท เป็นนักแสดงท่องบทเอง ลักษณะละครใกล้เคียงกับละครสมัยใหม่อย่างต่างประเทศ ภัทราวดี นำบทประพันธ์ นำเรื่อง ไฟพ่าย ของกฤษณา อโศกสิน มาประเดิมเป็นเรื่องแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาเป็นละครที่คิดบทเอง เช่น ขบวนการคนใช้, ตุ๊กตาเสียกบาล, สงครามปราสาท, นานาจิตตัง, ประชาชนชาวแฟลต, ศรีธนนชัย, ละครชุด ความรัก, ปะการังสีดำ

เมื่อปี พ.ศ. 2524 สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้ามาดูแลด้านการตลาด, ฝ่ายรายการและฝ่ายบุคคล ทางช่อง 7 และชวนหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มาร่วมหุ้นเปิดบริษัทพร้อมมิตรภาพยนตร์ เพื่อผลิตละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ละครในยุคที่สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หมายตาไว้ ไม่ใช่สูตรน้ำเน่าอย่างทุกวันนี้ มีผลงานเช่น หญิงก็มีหัวใจ, ห้องสีชมพู, เงือกน้อย, จดหมายจากเมืองไทย, ห้วงรักเหวลึก และ ข้าวนอกนา ละครชุดที่โด่งดังมากคือ หมอผี ต่อมาช่อง 7 ได้ดึงวาณิช จรุงกิจอนันต์ มาช่วยเขียนบทโทรทัศน์ในยุคแรก คณะละครช่อง 7 ยุคแรก ๆ ได้แก่ไพรัช สังวริบุตร, กันตนา

ภาพใช้ประกอบเนื้อหาไม่ใช่ละครสุริยานีไม่ยอมแต่งงาน

2530 เริ่มวัดความสำเร็จด้วยระบบเรตติ้ง

นับแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคธุรกิจละครเต็มรูปแบบ มีการวัดความสำเร็จด้วยระบบเรตติ้ง ละครโทรทัศน์ช่อง 7 สีในยุคธุรกิจเต็ม ระหว่างปี พ.ศ. 2530 – 2545 เช่นเรื่อง นางทาส, เคหาสน์สีแดง, ปราสาทมืด, กิ่งไผ่, ริษยา, กนกลายโบตั๋น, สายโลหิต, ญาติกา, รัตนโกสินทร์, สองฝั่งคลอง, นิรมิต, เบญจรงค์ห้าสี, น้ำใสใจจริง

ละครโทรทัศน์ไทยในยุคปัจจุบันออกอากาศในหลายช่วงเวลาตลอดวัน รวมถึงในช่วงไพรม์ไทม์ (ช่วงเวลาที่ทางสถานีโทรทัศน์ให้ความสำคัญ) ในช่วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำประมาณ 20.30 น.-22.30 น. ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และผู้อำนวยการผลิตจะพิจารณานำโครงเรื่องหรือบทประพันธ์ที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษและเหมาะสมกับการผลิตรายการละครโทรทัศน์ รวมถึงคัดเลือกนักแสดงที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม

ในปี พ.ศ. 2557 หลังจากมีการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเทศไทย ช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งครองตลาดละคร เริ่มมีช่องอื่นหันมาทำละครโทรทัศน์ แนวละครของช่อง 8 ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์คนดูในระดับฐานราก โดยเป็นแนวละครบ้าน ๆ สำหรับ ช่องวัน ที่มุ่งเน้นผลิตละคร เจาะกลุ่มคนดูทั่วไป ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แชนแนล มุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่น

รู้จัก ประเภทของละครไทย

  • ละครประเภทพิเศษ (Drama special) เล่นในวาระโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น วันแม่ วันที่ระลึกของหน่วยงานต่าง ๆ ละครการกุศล มีลักษณะตอนเดียวจบ มักใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  • ละครสั้น (TV series) มีความยาวระหว่าง 30-60 นาที ออกอากาศเป็นประจำ เนื้อหาในแต่ละตอนจะเป็นแนวเดียวกัน และใช้ผู้แสดงชุดเดียวกัน แต่เรื่องราวแตกต่างกันไป
  • ละครเรื่องยาว (TV. serials) ละครเรื่องยาวที่เล่นหลายตอนจบ ประมาณ 20-30 ตอน เนื้อเรื่องต่อเนื่องกัน ออกอากาศเป็นประจำ ใช้ผู้แสดงเป็นชุดเดียวกัน เป็นที่รู้จักในชื่อ Soap operas
  • ละครสั้น (Mini series) เป็นละครที่ผลิตเป็นเรื่องยาว มีความยาวตั้งแต่ต้นจนจบมากกว่า 3 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องแบ่งออกอากาศมากกว่า 1 ครั้ง ออกอากาศในเวลาเดียวกันในวันต่อไป หรือสัปดาห์ต่อไปจนจบเรื่อง มักมีความยาว 2-8 ตอน
  • ละครจบในตอน (Anthology series/anthology drama) ผู้แสดงไม่ใช่ชุดเดียวกัน และเรื่องราวแต่ละตอนไม่เกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น ปากกาทอง, เขย่าขวัญวันพุธ, ฟ้ามีตา ออกอากาศทางช่อง 7 สี เป็นต้น
  • ซิตคอม (sit-com) ละครแนวสนุกสนานมีลักษณะล้อเลียนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น จบในตอน ใช้นักแสดงชุดเดียวกันและเล่นบทบาทเดิม

ทั้งนี้ ละครโทรทัศน์ไทยยังได้รับความนิยมในต่างประเทศ อย่างประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา พม่า จนในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต ละครไทยก็ได้ขยายกว้างได้รับความนิยมในประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยในช่วงปี 2551 ถึง 2554 ละครเรื่อง สงครามนางฟ้า และ เลือดขัตติยา โด่งดังมาก จนขอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่ ในยุคนี้เองสถานีโทรทัศน์ของจีนบางสถานีฉายละครไทยถึงปีละ 10 เรื่อง ด้วยกัน!!


ขอบคุณที่มาจาก : th.wikipedia.org