ประเทศเยอรมนีได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย โดยมีสถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน ประจำกรุงเทพฯ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อีกสามแห่ง คือที่ เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต ตั้งแต่ช่วงปี 2503 สถานทูตเยอรมันได้ย้ายที่ทำการมายังถนนสาทร ตั้งอยู่เลขที่ 9 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
สถานทูตเยอรมัน ประกอบด้วยอาคารดังนี้ คือ อาคารที่ทำการสามชั้น อาคารแผนกกฏหมายและกงสุล และทำเนียบเอกอัครราชทูต โดยมีการทำงานที่แบ่งออกเป็น 8 แผนก แต่ละแผนกก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
หน้าที่การทำงานของ 8 แผนกใน สถานทูตเยอรมัน ประเทศไทย
1.เอกอัครราชทูต
เอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนสูงสุดของประเทศเยอรมนีในประเทศไทย มีภารกิจหลักในการสนับสนุนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเยอรมนี และไทยในทุกด้าน รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับคณะผู้แทนระดับสูงด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมและสื่อต่างๆ อีกด้วย
2.แผนกการเมือง
แผนกการเมืองมีหน้าที่สังเกตการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศไทย การเมืองภายในและภายนอกประเทศของไทย รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองของรัฐบาลเยอรมนีต่อรัฐบาลไทย รวมทั้งความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยโดยเฉพาะในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของเยอรมันให้แก่รัฐบาลเยอรมนี
3.แผนกเศรษฐกิจ
แผนกเศรษฐกิจ รับผิดชอบการส่งเสริมและดูแลความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเยอรมัน-ไทย มีภารกิจหลักคือการสนับสนุนเศรษฐกิจและการลงทุนในเยอรมนี ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานรัฐบาล สมาคมและบริษัทต่างๆ ของทั้งสองประเทศ แผนกเศรษฐกิจยังทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าของเยอรมนีและไทย โดยทำงานร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทยอย่างใกล้ชิด
4.แผนกประชาสัมพันธ์
แผนกประชาสัมพันธ์มีหน้าที่สังเกตการณ์ วิเคราะห์และประเมินข่าวสารในสื่อต่างๆ ของประเทศไทย ติดต่อประสานงานกับนักข่าวและสื่อต่างๆ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์มีฐานะเป็นโฆษกของสถานทูตฯ ทำหน้าที่รับผิดชอบภาพลักษณ์ของประเทศเยอรมนีในสายตาชาวไทย หรือ “งานประชาสัมพันธ์ด้านการเมือง” เพื่อให้ชาวไทยเข้าใจประเทศเยอรมันได้ครอบคลุมและตรงกับความเป็นจริง แผนกประชาสัมพันธ์ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองในเยอรมนีอีกด้วย
5.แผนกกฎหมายและกงสุล
ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและแนะนำด้านกฎหมายและสิทธิต่างๆ แก่ผู้มีสัญชาติเยอรมันที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวหรือถาวร การออกใบอนุญาตทำงานจะอยู่ภายใต้กฎหมายกงสุลและกฎระเบียบทางกฎหมายอื่นๆ ของเยอรมันรวมทั้งข้อบังคับทางกฎหมายของประเทศเจ้าบ้าน ผู้ถือสัญชาติไทยสามารถขอคำแนะนำด้านกฎหมายและกงสุลได้ เช่น ในการยื่นขอวีซ่า ในแผนกกฎหมายและกงสุลยังมี สำนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานสำนักงานตำรวจแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BKA) ทำหน้าที่เสริมสร้างและกระชับความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่เยอรมันโดยร่วมมือของฝ่ายไทย และประสานงานติดต่อเจ้าหน้าที่กฎหมายของเยอรมันให้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย
6.แผนกวัฒนธรรม
มีหน้าที่กำหนดนโยบายและดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและการศึกษาของรัฐบาลเยอรมันในประเทศไทย ช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านโปรแกรมการศึกษาและภาษา เช่น ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและประชาสัมพันธ์การศึกษาต่อในประเทศเยอรมนี นอกจากนี้แผนกวัฒนธรรมยังทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรเยอรมันในประเทศไทยเช่น สถาบันเกอเธ่หรือองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการของเยอรมนี (DAAD) ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนการศึกษาต่อในเยอรมนีโดยตรง
7.แผนกธุรการ
มีหน้าที่บริหารจัดการงานธุรการต่างๆ ในสถานทูต เช่น การรับสมัครเจ้าหน้าที่ในสถานทูต การติดตั้งระบบต่างๆ ในสถานทูต งานบำรุงรักษาอาคารและดูแลความปลอดภัยในบริเวณสถานทูต
8.คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร
คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ด้านการทหารในประเทศเจ้าบ้านต่อรัฐบาลเยอรมัน อีกทั้งยังทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกลาโหมของเยอรมนีและประเทศไทย
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี
เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2405 โดยมีการทำสนธิสัญญาทางไมตรีและการเดินเรือระหว่างกัน
- พ.ศ. 2426-2430 ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
- พ.ศ. 2430 จัดตั้งสำนักงาน ณ กรุงเบอร์ลิน สำหรับเอกอัครราชทูต และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเบอร์ลิน ซึ่งมีเขตอาณาเขตครอบคลุมอดีตเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด
- 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ย้ายสถานเอกอัครราชทูตจากบอนน์ไปเบอร์ลิน
- 1 มกราคม พ.ศ. 2545 มีการเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงค์เฟิร์ต
- เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยชื่อ นายรอล์ฟ เพเทอร์ ก็อดฟรีด ชูลเซ่ (Rolf Schulze) เข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554
ที่มาจาก : bangkok.diplo.de, th.wikipedia