นศ. มือรางวัลหลักสูตร DigiM ม.ธุรกิจฯ มองวิกฤตปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายด้าน ระบุคนไทยต้องร่วมมือกัน ถ้าเรียนจบอยากทำงานด้านสื่อเพื่อนำเสนอข้อมูล เผยระหว่างเรียนและทำผลงานต้องเริ่มจากสิ่งที่สนใจก่อน ทำงานเป็นทีมรู้จักแบ่งเวลา และได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์เป็นสำคัญ
เทคนิคการเรียน นศ. มือรางวัลหลักสูตร DigiM ม.ธุรกิจฯ
นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ (DigiM) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เผยเทคนิคการเรียน และวิธีที่ทำให้ได้รับรางวัลระหว่างเรียน
วิธีที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลหลายรายการระหว่างการศึกษา
สำหรับวิธีที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลหลายรายการระหว่างการศึกษา น.ส.ธัญญารัตน์ กล่าวว่า ทีมงานเริ่มมองจากสิ่งที่ชอบก่อนว่า มีความชอบและสนใจที่จะทำอะไร โดยคำนึงถึงการผลิตผลงานออกมาจะต้องสามารถให้ข้อคิด ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดี จากนั้นเริ่มมีการวางแผน นัดประชุมงาน และทำงานเป็นขั้นตอน ที่สำคัญคือ ต้องจดบันทึกเสมอเพราะการพูดโดยไม่จดนั้น อาจทำให้เราลืมสิ่งสำคัญไป
แต่การทำงานต่าง ๆ มักจะมีอุปสรรคในการทำงานเสมอ การทำงานเป็นทีม จะเกิดความหลากหลายทางความคิด แต่สามารถหาทางออกได้โดยการรับฟัง รวมถึงการนำความคิดของทุกคนในทีม มารวบรวมเป็น 1 เรื่อง อีกทั้งอุปสรรคในเรื่องการแบ่งเวลา ทั้งเวลาเรียน การทำงาน การหาข้อมูลต่างๆ เพราะความรู้ไม่เพียงอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เราสามารถหาความรู้ได้ทุกที่อยู่ที่เราจะค้นคว้า รางวัลที่เราได้มาจากการประกวดนั้นมันเป็นเพียงแค่กำไรของชีวิต แต่สิ่งที่เราได้มากที่สุดของการประกวดนั่นก็คือประสบการณ์และการเติบโต
การเรียนหลักสูตรสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์มีความสุขและสนุก
น.ส.ธัญญารัตน์ กล่าวถึงการเรียนการสอนของหลักสูตรสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ว่า เป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขและสนุก มีการเรียนรู้ที่ผสมผสานกับธุรกิจ และสอนให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสาขานี้มีการเรียนที่ค่อนข้างหลากหลาย มีสตูดิโอขนาดใหญ่หลายสตูดิโอ ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งนักศึกษาสามารถคิดและสร้างสรรค์ออกแบบรายการที่ตนเองสนใจได้ และมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้อย่างดี อาจารย์คอยให้คำปรึกษา แนะนำสิ่งต่างๆ ซึ่งในคณะนิเทศศาสตร์ของเรานั้น เราอยู่กันเปรียบเสมือนครอบครัว อาจารย์จะมีข่าวสารเรื่องที่นักศึกษาต้องรู้จะคอยแนะนำอยู่เสมอ อาจารย์ทุกท่านจะใส่ใจและจดจำรายละเอียดของนักศึกษาได้ทุกคน มีการสอนแบบปูพื้นฐานการเรียนในทุกวิชา และสอนให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติเพื่อสามารถนำไปทำงานได้จริง เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิ การทำงานด้านสายข่าว นักจัดรายการวิทยุ สายงานโปรดักชั่น สายงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ
หลังเรียนจบ อยากเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์
“หลังเรียนจบตั้งใจทำงานด้านสื่อ อยากเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ชอบการนำเสนอข้อมูล การคิดวิเคราะห์ อยากเป็นสื่อกลางเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคม เพื่อให้คนในสังคมได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนและเกิดความเข้าใจกัน” น.ส.ธัญญารัตน์กล่าว
ทั้งนี้ น.ส.ธัญญารัตน์เป็นนักศึกษาหลักสูตรสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์ ที่มีความสนใจในงานด้านสื่อสารมวลชน และในระหว่างเรียนหนังสือธัญญารัตน์และเพื่อน ๆได้เข้าร่วมการแข่งขันด้านสื่อมวลชนและได้รับรางวัลหลายเวที ได้แก่
- รางวัลดีเด่น สารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรม รางวัล “สายฟ้าน้อย” ครั้งที่ 15 ประจำปี 2562 จัดโดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ. ทรู คอร์เปอเรชั่น และสํานักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาชิกในทีมประกวด ได้แก่ นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ นายปารณ ไชยพันนา และนางสาวอาทิตยา พุฒน์กล่ำ
- รางวัลชนะเลิศข่าว โครงการอบรมเชิงปฎิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่นที่ 22 ภายใต้สโลแกน “Fact News นักข่าวมืออาชีพ” โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ
- รางวัลชมเชย สารคดีเชิงข่าว ในหัวข้อ “ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม” โครงการประกวดสารคดีเชิงข่าว “7HD NEWS IDEA CONTEST” จัดโดย ช่อง 7HD ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โตโยต้า ยาริส สมาชิกในทีมประกวด ได้แก่ นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ นายปารณ ไชยพันนา นางสาวอาทิตยา พุฒน์กล่ำ นายชัชพงศ์ พรหมสวัสดิ์ นายกิตติธัช ทองโชติ นางสาวอนัตสิตา งามสอาด นางสาวสุพัตรา ภาเสนา และนายปัญญากร ธูปหอม
- รางวัลชมเชย AHF Media Award: การประกวดคลิปสั้น “สวมโลกใบใหม่ให้ CONDOM” จัดโดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Blued Application และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ นายปารณ ไชยพันน และนางสาวอาทิตยา พุฒน์กล่ำ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอแผนรณรงค์ทางการสื่อสารการตลาด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาดไทย จัดโดย สภากาดไทย และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ นายปารณ ไชยพันนา นางสาวอาทิตยา พุฒน์กล่ำ นายชัชพงศ์ พรหมสวัสดิ์ นายกิตติธัช ทองโชติ นางสาวอนัตสิตา งามสอาด นางสาวสุพัตรา ภาเสนาและนายปัญญากร ธูปหอม
มุมมองปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ นางสาวธัญญารัตน์ ขำเลิศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ขณะที่มีปัญหาต่างๆหลายเรื่องทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
แต่ปัญหาที่เห็นชัดที่สุดในตอนนี้คือ ปัญหาทางด้านสุขภาพที่สังคมทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย และไม่ว่าจะเป็นคนช่วงอายุไหนก็ตาม คือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ส่วนต่างๆหยุดชะงักไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนเจ็บป่วย หวาดกลัว และขาดรายได้
สำหรับแนวทางแก้ไข คิดว่าในด้านสาธารณสุขประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือกับข้อปฏิบัติที่รัฐกำหนดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไทยนั้นพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลังจากนี้ถ้าไวรัสลดหรือไม่มีการระบาดแล้ว ต้องรอดูว่ารัฐจะมีมาตราการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างไร
“โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักศึกษา เป็นประชาชนคนหนึ่งจะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆเสมอ อาทิ อยู่บ้าน เว้นระยะ ล้างมือบ่อยๆ แต่สิ่งที่อยากทำมาก ๆ คือ การทำหน้าที่สื่อมวลชน เพราะเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันเมื่อจบการศึกษา” น.ส.ธัญญารัตน์กล่าว