บทความนี้จะพาไปเจาะลึกบทสัมภาษณ์ของ 2 ผู้ได้รับรางวัล IELTS Prize ในปีที่ผ่านมาที่ต่างเลือกศึกษาต่อปริญญาโท ณ สหราชอาณาจักร ถึงประสบการณ์หลังจากได้รับทุนการศึกษา รวมถึงทริคการทำคะแนนข้อสอบ IELTS พร้อมด้วยเทคนิคการเขียนจดหมายแนะนำตัว (Personal statement) อย่างไรให้โดนใจกรรมการ ใครที่กำลังเตรียมตัวสมัครทุนนี้อยู่ลองดูเป็นแนวทางได้ค่ะ
ทริคสอบฉบับแชมป์ IELTS PRIZE ก้าวแรกสู่การเรียนต่อต่างประเทศสำหรับคนมีฝัน
นายอัยการ ไตรชัยศิษฎ์ ผู้ได้รับรางวัล IELTS Prize ประจำปี 2018/19 นักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยยอร์ก สหราชอาณาจักร เล่าว่า เดิมตนศึกษาในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกศึกษาวิชาโทด้านจิตวิทยา ประกอบกับมีแรงบันดาลใจในด้านการผลักดันการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย เพราะตนมองว่า ทักษะภาษาอังกฤษถือเป็นประตูด่านสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่และเป็นสากล ตนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาโทในด้านจิตวิทยาการศึกษา เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ออกแบบแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะกับการพัฒนาภาษาอังกฤษ ตามกระบวนการการเรียนรู้ตามธรรมชาติของสมอง เป็นที่มาของความมุ่งมั่นในการเตรียมพร้อมสมัครทุนการศึกษา IELTS Prize ของบริติช เคานซิล
IELTS ระดับ 6 ทุกพาร์ท ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าจับทางถูก!
นายอัยการ เล่าเพิ่มว่า สำหรับเทคนิคการเตรียมความพร้อมก่อนสอบ IELTS ตนแบ่งเทคนิคการเตรียมตัวเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนสั่งสมประสบการณ์ (Reading and Listening) และส่วนโชว์ภูมิภาษาอังกฤษ (Writing and Speaking) โดยใน ส่วนของการสั่งสมประสบการณ์ ก็คือการพยายามใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านข่าว บทความ ดูหนัง ฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ภาษาอังกฤษ จะทำให้เราคุ้นชินกับโครงสร้าง และสำเนียงของภาษาอังกฤษ รวมถึงการหมั่นฝึกทำข้อสอบ IELTS อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้คุ้นชินกับแพทเทิร์นของข้อสอบ และสามารถพิชิตคะแนนในพาร์ท Reading และ Listening ได้
ในขณะที่ส่วนของการโชว์ภูมิด้านภาษาอังกฤษ หรือการแสดงออกให้กรรมการ คนตรวจข้อสอบเห็นว่าเรามีความรู้ และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ในพาร์ท Writing มีเทคนิคคือ การใช้โครงสร้างประโยคที่ถูกต้อง การเรียบเรียงเรื่องราวที่เป็นลำดับ เข้าใจง่าย มีใจความครบถ้วน และที่สำคัญคือภายใต้เวลาที่จำกัด ขณะที่พาร์ท Speaking คือโอกาสในการแสดงให้กรรมการเห็นว่าเรามีความสามารถในการสื่อสาร การแก้สถานการณ์ด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ โดยในพาร์ท Speaking แบ่งเป็นการตอบคำถาม 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการตอบคำถามในเชิงบทสนทนาทั่วไป อาจเป็นการแนะนำตัว นำเสนอตัวตนให้กรรมการรู้จัก ซึ่งในส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ภาษาระดับสูง แต่เทคนิคคือความสามารถในการเล่าเรื่องได้น่าสนใจ และสามารถเล่าได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ากรรมการจะบอกให้หยุดเล่า เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ใช่คนช่างพูด แนะนำให้เตรียมหัวข้อในการเล่าเรื่องของตัวเองในมุมต่างๆ เพื่อให้การพูดเป็นไปอย่างไหลลื่น ไม่สะดุด ในส่วนของคำถามหัวข้อที่ 2 และ 3 จะเป็นคำถามเชิงแสดงความคิดเห็น หรือการแก้สถานการณ์ เป็นโอกาสของการโชว์ภูมิระดับภาษา ผ่านการแสดงทัศนคติที่มีต่อคำถาม เสริมด้วยเหตุผลรองรับที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การเลือกใช้คำศัพท์ตามระดับภาษาที่เหมาะสม การเลือกใช้กลุ่มคำ (collocation) ที่ถูกต้อง รวมถึงการออกเสียงที่ถูกต้อง ชัดเจน จะทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีเสน่ห์ และช่วยเพิ่มคะแนนในพาร์ทนี้ นายอัยการ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางสาวกุลินทร คลี่พันธุ์ ผู้ได้รับรางวัล IELTS Prize ประจำปี 2018/19 นักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ด้วยแรงบันดาลใจในการสานต่อธุรกิจด้านอาหารของครอบครัว ประกอบกับความสนใจในด้านการตลาด และการเงินโดยเฉพาะ ซึ่งการเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เน้นการเรียนรู้แบบกว้างและรอบด้าน ในระดับการจัดการ อาทิ การบริหารการเงินในระดับองค์กร การทำบัญชี การตลาด ฯลฯ เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจในฐานะผู้บริหาร และสามารบริหารจัดการงานในระดับปฏิบัติการได้ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ความต้องการสำหรับผู้ที่ตั้งใจประกอบธุรกิจด้วยตัวเอง
การเล่าเรื่องที่โดดเด่น นำมาซึ่ง Personal statement ที่ทัชใจกรรมการ
นางสาวกุลินทร เล่าเพิ่มว่า สิ่งที่กรรมการต้องการรู้จักเราจากจดหมายแนะนำตัว (Personal statement) ประกอบด้วย ตัวตนของเรา เป้าหมายของเรา และสิ่งที่เราจะทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ดังนั้น เทคนิคการเขียน Personal statement ของตนจึงประกอบไปด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1) ทำความเข้าใจตัวเองเพื่อสร้างเส้นเรื่อง ก่อนอื่นต้องคิดทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งหมด เรื่องราวสำคัญของเราที่อยากให้กรรมการรู้ อาจเป็นเรื่องราวที่ปูทางไปสู่ความเป็นตัวเราในปัจจุบัน หรือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่เกี่ยวของกับเป้าหมายในอนาคตที่กำลังจะกล่าวถึง 2) แสดงออกถึงปณิธานและแพสชันอันแรงกล้า การเล่าเป้าหมายที่ชัดเจนถึงสาขาวิชา มหาวิทยาลัยที่ต้องการศึกษาต่อ ไปจนถึงการมองตัวเองในอนาคตว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาต่อไปทำอะไรในอนาคต และให้เหตุผลว่าทำไมต้องเป็นสาขาวิชา และมหาวิทยาลัยนี้ที่จะสามารถเติมเต็มเป้าหมายของเราได้ จะช่วยเพิ่มความหนักแน่นให้กับ Personal statement ของเรา 3) บอกถึงเส้นทางไปสู่ความฝันที่เราวางไว้ นอกจากเป้าหมายที่สามารถบอกได้แล้วว่าจะทำอะไร (What) เราต้องบอกด้วยว่าจะไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร (How) และเป้าหมายของเราจะสำเร็จได้ภายในระยะเวลาเท่าไร (When) สิ่งนี้จะเป็นเหมือน commitment ที่เราทำให้กรรมการเชื่อมันว่าเราจะสามารถทำสิ่งที่นำเสนอออกมาให้เกิดขึ้นได้จริง
เมื่อวางไอเดียทั้ง 3 ส่วนแล้ว ให้เขียนโครงเรื่องคร่าวๆ ทั้งหมดขึ้นมาก่อน แล้วจึงลงรายละเอียดในแต่ละพารากราฟ วิธีนี้จะทำให้เรารู้ทิศทางการเขียนทั้งหมด สามารถลงมือเขียนได้โดยไม่หลุดทิศทาง และไม่เสียเวลา นอกจากนี้ การเลือกใช้โครงสร้างประโยค ภาษาที่ไม่วิชาการ หรือดูเป็นเรียงความจนเกินไป (Lack of informality) จะทำให้เรื่องราวของเราดูเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นมิตร น่าติดตาม และโดดเด่นขึ้นมาจาก Personal statement ของคนอื่นๆ จนกรรมการต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา นางสาวกุลินทร กล่าวสรุป