การวางแผนการเงิน การเงิน วิธีเก็บเงิน

เก็บเงินยังไงดี? แนะนำ 3 ข้อน่ารู้ การวางแผนการเงิน เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ไว้

แนะนำ 3 ข้อน่ารู้ การวางแผนการเงิน เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ไว้ เตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

Home / CAMPUS / เก็บเงินยังไงดี? แนะนำ 3 ข้อน่ารู้ การวางแผนการเงิน เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ไว้

หากพูดถึง การวางแผนทางการเงิน หลายคนอาจบอกว่าไม่เคยสนใจหรือคิดจะวางแผนเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ถึงสถานะทางการเงินของตัวเองว่าเป็นอย่างไร มีรายรับรายจ่าย มีหนี้สินหรือเงินออมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงยังทำให้ทราบได้ว่าตนเองจะประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเมื่อเกิดเหตุการ์ณที่ไม่คาดฝันได้หรือไม่อีกด้วย

แนะนำ 3 ข้อน่ารู้ การวางแผนการเงิน เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ไว้

จะเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ที่ได้สร้างผลกระทบทางการเงินแก่คนส่วนใหญ่ ซึ่งหลาย ๆ คนที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินที่ดีพอนั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินในอนาคตได้ ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ซิตี้แบงก์ ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการด้านการเงินหลากหลายรูปแบบครอบคลุมลูกค้าทุกประเภทจะมาแนะนำการวางแผนทางการเงินแบบ 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ตามหลักพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์

รู้ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs) และการกระจายความเสี่ยง (Risk Management)

เพราะความมั่นคงเริ่มต้นจากรากฐานที่แข็งแกร่ง ดังนั้นจึงประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือ ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs) เนื่องจากทุกคนต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้นต้องมีการเตรียมเงินสำรองในส่วนนี้เอาไว้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน อย่างน้อย ๆ ควรสำรองให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้ประมาณ 3-6 เดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 5,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองเตรียมเอาไว้ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท เพราะหากมีการสำรองเงินในส่วนนี้เอาไว้ก็จะทำให้เราไม่ต้องมานั่งกังวลกับความไม่แน่นอน

Life Insurance Policy Terms of Use Concept

ต่อมาคือ การกระจายความเสี่ยง (Risk Management) ควรประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตและสินทรัพย์ และโอนย้ายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าวไปยังสิ่งที่สามารถรองรับความเสี่ยงนั้น ๆ แทนเราได้ เช่น การทำประกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบ้านหรือรถยนต์ ตลอดจนประกันทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นต้น

รู้วิธีเก็บสะสม (Accumulation)

เนื่องจากทุกคนมีเป้าหมายและความต้องการแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงชีวิต ดังนั้นทุกคนควรมีการวางแผนสะสมความมั่งคั่งเพื่อรองรับความต้องการให้เป็นไปตามเป้าหมายแต่ละช่วงที่วางไว้ เช่น เป้าหมายระยะสั้นช่วงประมาณ 1-2 ปี อาจวางแผนออมเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องช้อปปิ้ง การเดินทางท่องเที่ยว ส่วนเป้าหมายระยะกลางที่ต้องการทำให้สำเร็จในช่วงเวลา 2-5 ปี เช่น ออมเงินเพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือซื้อบ้านหรือรถยนต์ รวมทั้งการแต่งงาน ในขณะเป้าหมายระยะยาวที่ต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี อาจวางแผนการออมเงินหรือสะสมสินทรัพย์เพื่อชีวิตหลังการเกษียณ หรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในอนาคต ฯลฯ เป็นต้น

รู้ยุทธวิธีลงทุน (Investment)

หากมีการสะสมสินทรัพย์แล้ว เชื่อว่าทุกคนย่อมมีความต้องการเห็นสินทรัพย์มีการงอกเงยหรือเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่การที่จะทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องเป็นไปตามที่ต้องการ การออมเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียวในปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงทำให้เกิดการนำเงินหรือสินทรัพย์ไปต่อยอดลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มสินทรัพย์ให้เรามากพอตามเป้าหมายได้อย่างผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น หุ้น หรือกองทุนรวม แต่อย่าลืมว่าทุกการลงทุนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นขณะทำการลงทุนได้ ดังนั้นอาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนมาช่วยเพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะทุกคนต่างก็มีความต้องการที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา การวางแผนจะช่วยให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินและเป้าหมายในชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีความมั่นคงทางการเงินมากยิ่งขึ้น

ที่มา: citibank