QS Quacquarelli Symonds สถาบันคลังสมองชั้นนำในแวดวงอุดมศึกษาระดับโลก และผู้จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้พูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ขอประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชียประจำปีล่าสุด ซึ่งเป็นปีที่ 14 แล้ว โดย National University of Singapore ยังคงรั้งตำแหน่งมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชียเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
10 อันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย โดย QS
การจัดอันดับ QS World University Rankings: Asia ประจำปี 2022 มีมหาวิทยาลัยในการจัดอันดับ 687 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับเป็นครั้งแรก 40 แห่ง และเป็นการจัดอันดับระบบอุดมศึกษาของเอเชียที่ครอบคลุมที่สุดของ QS การจัดอันดับนี้ประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยโดยดูจากเกณฑ์บ่งชี้หลัก 11 ประการด้วยกัน ซี่งประกอบด้วยผลงานทางวิชาการ การจ้างงานบัณฑิต คุณภาพงานวิจัย ความเป็นสากลของวิทยาเขต และความหลากหลายในความร่วมมือระดับนานาชาติของสถาบันแต่ละแห่ง
ข้อมูลโดยสรุปดังต่อไปนี้
- มหาวิทยาลัย 687 แห่งที่อยู่ในการจัดอันดับอยู่ใน 18 ประเทศและดินแดนทั่วเอเชีย โดยจีนแผ่นดินใหญ่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับนี้มากที่สุด (126 แห่ง) ตามมาด้วยอินเดีย (118 แห่ง) ญี่ปุ่น (108 แห่ง) เกาหลีใต้ (88 แห่ง) ปากีสถาน (47 แห่ง) ไต้หวัน (46 แห่ง) มาเลเซีย (36 แห่ง) อินโดนีเซีย (33 แห่ง) ไทย (23 แห่ง) ฟิลิปปินส์ (15 แห่ง) เวียดนาม (11 แห่ง) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (9 แห่ง) ศรีลังกา (6 แห่ง) สิงคโปร์ (3 แห่ง) บรูไน (2 แห่ง) เขตบริหารพิเศษมาเก๊า (2 แห่ง) และมองโกเลีย (1 แห่ง)
- มหาวิทยาลัย Peking University ของจีน ไต่ขึ้นสู่อันดับ 2 ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในการจัดอันดับของ QS
- University of Hong Kong ไต่ขึ้นหนึ่งอันดับ ครองอันดับสามร่วมกับ Nanyang Technological University ของสิงคโปร์ ซึ่งยังคงครองอันดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว
- Universiti Malaya (อันดับ 8) ทำอันดับได้ดีที่สุดเท่าที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยทำไว้ในการจัดอันดับของ QS ขณะที่มหาวิทยาลัยมาเลเซีย 24 แห่งมีอันดับดีขึ้น
- ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยติด 50 อันดับแรกมากที่สุด (11 แห่ง) เมื่อเทียบกับประเทศ ที่ตั้ง หรือดินแดนอื่น ๆ
- มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้คือ Korea University (อันดับที่ 13 ของเอเชีย)
- ในแง่ของผลิตภาพงานวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยของอินเดียติด 10 อันดับแรกของเอเชียถึง 7 แห่ง อย่างไรก็ดี คุณภาพงานวิจัยของอินเดียไม่ได้ไปทางเดียวกับปริมาณงานวิจัย ขณะที่คะแนนในเกณฑ์ความสามารถในการสอนและการจ้างงานนั้นลดลง
เบน โซวเทอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ QS กล่าวว่า “ผลการจัดอันดับปีนี้สะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์ที่เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นและดุเดือดในแวดวงอุดมศึกษาของเอเชีย โดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนยังคงมีอันดับดีขึ้น มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมีอันดับค่อนข้างนิ่ง และมาเลเซียยังคงมาแรง”
ดูผลการจัดอันดับทั้งหมดได้ที่ www.TopUniversities.com และดูระเบียบวิธีวิจัยในการจัดอันดับได้ที่ https://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology