ความรัก นักศึกษา อาจารย์

เสรีภาพในความรัก ไม่ควรจำกัดแค่ ‘สถานะ’ สังคมไทยมองอย่างไรกับเรื่องความรัก อาจารย์ กับ นักศึกษา

สังคมไทย มองอย่างไรกับเรื่องความรักระหว่าง อาจารย์กับนักศึกษา? ลองไปสำรวจความคิดเห็นกัน

Home / CAMPUS / เสรีภาพในความรัก ไม่ควรจำกัดแค่ ‘สถานะ’ สังคมไทยมองอย่างไรกับเรื่องความรัก อาจารย์ กับ นักศึกษา

อันที่จริง นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีนั้น ถือว่าโตเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในระดับหนึ่ง และอยู่ในช่วงก่อนวัยทำงาน เป็นช่วงที่ต้องการคำแนะนำ ต้องการผู้ที่แนะแนว ทั้งในเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน เรื่องความรัก รวมถึงเรื่องครอบครัว

สังคมไทยมองอย่างไรกับเรื่องความรัก อาจารย์ กับ นักศึกษา

หากย้อนกลับไปในอดีต สังคมไทยอาจตีกรอบว่า อาจารย์ และนักศึกษา มีช่องว่างตรงกลาง ในสถานะ ‘ผู้ให้ความรู้’ และ ‘ผู้รับความรู้’ ซึ่งไม่ควรสนิทสนมกันเกินควร แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาสังคมไทยเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น มีมุมมองต่อความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น หากความสัมพันธ์เหล่านั้นตั้งอยู่บนความถูกต้อง และไม่สร้างความเสียหายให้กับสังคมแม้แต่ในนิยายเรื่องคู่กรรม 2 ของนักเขียนชื่อดังอย่างทมยันตี ซึ่งถูกเขียนขึ้นเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ก็ยังพูดถึงความรักความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในยุคสมัยนี้ที่หากอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งสนิทกันมากๆ จะตัดสินใจพูดคุยเพื่อเรียนรู้กัน จนกระทั่งพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การคบหากัน

ในต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีมหาวิทยาลัยเพียง 3 แห่ง จากมหาวิทยาลัยทั้งหมดเกือบ 200 แห่ง ในสหราชอาณาจักรที่ห้ามไม่ให้นักศึกษาและอาจารย์คบหากัน โดยอันที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยในโลกส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ห้ามคบหากันเด็ดขาด หากแต่ขึ้นอยู่กับสถานะและความเหมาะสมในแต่ละกรณีไปและต่างมองไปที่แนวคิดที่ใหญ่กว่านั้น เหนือกว่านั้น คือเรื่องของ ‘ความยินยอม’ หรือ Consent เพื่อเป็นพื้นฐานในการตีความถึงความเหมาะสม นั่นคือหากอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับ ไม่ได้สอนอยู่ในวิชาที่นักศึกษาเรียน ไม่สามารถให้อภิสิทธิ์บางอย่างเป็นพิเศษกับนักศึกษา และนักศึกษาเองก็ยินยอมพร้อมใจ ก็เป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะสานสัมพันธ์หรือคบหากันได้

เรื่องของความยินยอม กลายเป็นแนวคิดหลักของสังคมสมัยใหม่ หากสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจ ก็แปลความได้ว่า ทั้งนักศึกษา และอาจารย์นั้น มีสิทธิ์ที่จะเลือกคนรู้ใจ หรือเลือก “คนสนิท” ด้วยตัวเอง และก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร หากคนสนิทของนักศึกษาเหล่านี้ จะมีอายุมากกว่า หรือมีสถานะเป็น ‘อาจารย์’หากทั้งสองฝ่ายยังโสด รู้หน้าที่ ความรับผิดชอบของตัวเอง ปฏิบัติต่อกันในความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม

แล้วสังคมไทย มองอย่างไรกับเรื่องความรักความสนิทสนมระหว่างอาจารย์ กับนักศึกษา? ผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถามนักศึกษา 3 ราย ที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้

น.ส.กานต์ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาหญิงคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่งในกทม. ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่อาจารย์ผู้สอนหรืออาจารย์ที่ปรึกษา จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียน ชีวิตส่วนตัว หรือเรื่องความรัก โดยที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาโดยตรงอยู่บ่อยครั้ง และก็ได้รับคำแนะนำที่ดีในการแก้ปัญหาชีวิตในด้านต่าง ๆ รวมถึงปัญหาเรื่องความรัก

ขณะที่ นายรัฐกิจนักศึกษาชายคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งแสดงความเห็นว่า ความรักระหว่างอาจารย์และนักศึกษานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก และเท่าที่ได้ยินก็มีเพื่อนนักศึกษา และอาจารย์ที่ตนเองรู้จักในคณะ หรือที่ได้ยินจากเพื่อนคณะอื่นก็มีหลายคู่ โดยเมื่ออาจารย์ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือนานเข้า ก็เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่พูดคุยกันแล้วถูกคอ มีความเข้าอกเข้าใจกันดี จนสนิทสนมชอบพอ และนำไปสู่การตกลงใจแต่งงานกันหลังเรียนจบปริญญาตรี

ส่วน นางสาวอารียา นักศึกษาหญิง คณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มองว่า หากทั้งสองฝ่ายยังโสด ไม่มีพันธะ ความสนิทสนมของทั้งสองฝ่าย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร “เพราะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นผู้ใหญ่ระดับหนึ่งไม่ใช่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และที่สำคัญสถานะระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเหมือนสมัยก่อนที่นักศึกษาต้องเคารพบูชาอาจารย์” นางสาวอารียา ระบุ

ขณะที่ ทางฝ่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่านที่ให้สัมภาษณ์ได้ให้ความเห็นว่า อาจารย์ส่วนใหญ่มองว่านักศึกษาไม่ได้เกรงกลัวอาจารย์เหมือนในอดีตแล้ว โดยอาจารย์ท่านหนึ่งยกตัวอย่างว่าตนเองเคยเข้าไปสอนในบางคลาสก็ยังถูกนักศึกษาแซวเล่นอยู่บ้างโดยเฉพาะในช่วงตอนจบมาใหม่ๆ อายุห่างกันไม่มาก อาจารย์ผู้ให้สัมภาษณ์อีกท่านยังยกตัวอย่างที่ประสบพบเจอว่า นักศึกษาบางคนก็ปฏิบัติตัวเหมือนว่าอาจารย์เป็นรุ่นพี่ที่สามารถพูดคุยได้อย่างเป็นกันเองซึ่งตรงนี้มีส่วนช่วยให้เวลาที่นักศึกษามาขอคำแนะนำก็สามารถพูดคุยให้คำปรึกษาได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจในทุกเรื่องและเมื่อถามถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษานั้น คำตอบส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางที่ว่าหากความสัมพันธ์สนิทสนมนั้นพัฒนาเกิดขึ้นนอกห้องเรียน หลังจากจบวิชาที่สอน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความลำเอียงในการให้คะแนน ไม่ได้มีอำนาจให้คุณให้โทษใดๆ ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมก็น่าจะยอมรับได้

โดยก่อนหน้านี้ มีหลายคู่ที่สนิทสนมกันตั้งแต่ยังเป็น อาจารย์ – นักศึกษา ที่แต่งงานกันหลังจากเรียนจบ หรือแม้แต่ในระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งก็แต่งงานกับอดีตนักศึกษาที่เคยสอนหรือเคยเป็นที่ปรึกษาวิจัย ผศ.ดร.ธรณ์
ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีคู่ชีวิตเป็น ‘ลูกศิษย์’ ผศ.ดร.ธรณ์ รู้สึกประทับใจบุญยรัตน์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภรรยา ตั้งแต่เจอกันในห้องเรียน เมื่อ บุญยรัตน์ ยังอยู่ในสถานะนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทั้งคู่มีโอกาสได้เรียนรู้พัฒนาความสัมพันธ์จนเกิดเป็นความรักระหว่างที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ช่วยวิจัย ลงเก็บข้อมูลด้านประมงกับอาจารย์ และหลังจาก บุญยรัตน์ จบการศึกษาปริญญาตรีได้เพียง 3 วัน อาจารย์ธรณ์ก็ตัดสินใจขอบุญยรัตน์แต่งงานทันที

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ตัดสินใจร่วมหอลงโรง เข้าสู่ประตูวิวาห์กับลูกศิษย์อย่าง พิมพ์กาญจน์ ชนะรัตน์ ถึงแม้ว่าอาจารย์จะมีอายุ 52 ปีและฝ่ายหญิงมีอายุเพียง 25 ปี ซึ่งห่างกันถึง27 ปี

เรื่องราวเหล่านี้ สะท้อนว่าเมื่อความรัก คือความรัก ก็ไม่ควรจะไปตีกรอบว่าใคร ต้องรักกับใครเท่านั้น ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา หากอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งสองฝ่ายตกลงปลงใจ เป็นเพื่อนคู่คิดสนิทสนมกันจนพัฒนาเป็นความรักความสัมพันธ์ ก็ควรจะเป็นเรื่องของคนสองคนที่จะตัดสินใจด้วยกันมากกว่าจะให้คนอื่นเป็นผู้ตัดสิน…