ประชุมสภา ศัพท์สภาน่ารู้ เกร็ดความรู้

ศัพท์สภาน่ารู้ รวมคำศัพท์เกี่ยวกับการใช้ประชุมในสภาและความหมาย

ศัพท์สภาน่ารู้ รวมคำศัพท์เกี่ยวกับการใช้ประชุมในสภาและความหมาย ประชุมสภา

Home / CAMPUS / ศัพท์สภาน่ารู้ รวมคำศัพท์เกี่ยวกับการใช้ประชุมในสภาและความหมาย

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับความหมายของ คำศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับสภา เวลามีการประชุมสภา จะมีคำศัพท์บางคำที่ใช้เฉพาะ มีความหมายว่าอย่างไรบ้าง ไปอ่านทำความเข้าใจไว้ เพื่อที่จะได้ตามข่าวสารได้เข้าใจความหมาย

ศัพท์สภาน่ารู้ คำศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับการประชุมสภา หมายถึงอะไรบ้าง

1.การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ (์No-Confidence Debate)

การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ (์No-Confidence Debate) คนส่วนใหญ่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” หมายถึง การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นการเสนอญัตติโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มักกระทำเมื่อเห็นว่า การบริหารแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไม่เป็นที่ไว้วางใจ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่รัฐธรมนูญกำหนด มีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอญัตติไม่ไว้วางใจได้ ถือเป็นการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินวิธีหนึ่ง เป็นมาตรการที่สำคัญและยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

2.องค์ประชุม (Quorum)

หมายถึง จำนวนต่ำสุดของผู้เข้าร่วมประชุมที่สามารถทำให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ ซึ่งมีผลให้การประชุมนั้นเกิดความชอบธรรมและมีผลตามกฎหมาย

  • องค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร : ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา (ม. 120 รธน. 2560)
  • องค์ประชุมของวุฒิสภา : ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ม. 120 รธน. 2560)
  • องค์ประชุมของกระทู้ถาม : ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา (ข้อ 25 ข้อบังคับฯ ส.ส. 2562)
  • องค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ : ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ข้อ 92 ข้อบังคับฯ ส.ส. 2562)

3.การประท้วง (ในสภาผู้แทนราษฎร)

หมายถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสงสัยว่าการอภิปรายของสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใดที่เข้าข่าย ฟุ่มเฟือย นอกประเด็น ซ้ำซาก วนเวียน แสดงกิริยาไม่สุภาพ ใส่ร้าย เสียดสีบุคคลอื่น นำวัตถุใด ๆ เข้ามาแสดงให้ที่ประชุมฟัง กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ โดยไม่จำเป็น* สมาชิกผู้ใดต้องการประท้วงให้ยืนและยกมือขึ้นพ้นศีรษะประธานต้องให้โอกาสผู้นั้นชี้แจง คำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด

*ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 69, 71, 72, 178

4.กระทู้ถาม

กระทู้ถาม คือ ข้อซักถามที่สมาชิกมีต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกับงานในหน้าที่ โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ กระทู้ถามมี 3 ประเภท คือ

  1. กระทู้ถามสดด้วยวาจา
  2. กระทู้ถามทั่วไป
  3. กระทู้ถามแยกเฉพาะ

5.สมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภา (Extraordinary session)

สมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภา (Extraordinary session) หมายถึง การเปิดให้มีการประชุมสภานอกสมัยประชุมสามัญประจำปีของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และจะไม่มีการกำหนดวันปิดสมัยประชุม เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมก็ถือเป็นการปิดสมัยประชุมวิสามัญนั้น

6.ญัตติ (Motion)

คือ ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ญัตติ เสนอได้ทั้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา จะมีผู้รับรองหรือไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม

7.พระราชกำหนด (Emergency Decree)

พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถตราพระราชบัญญัติมาใช้บังคับให้ทันต่อสถานการณ์

8.สมัยประชุมสามัญของรัฐสภา (Ordinary session)

หมายถึง การประชุมสามัญประจำปีของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ในหนึ่งปีมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย สมัยละ 120 วัน สมัยแรกเริ่มตั้งแต่วันที่มีการเปิดประชุมเป็นครั้งแรก ส่วนสมัยที่สองรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดวันเริ่มสมัยประชุม และให้ถือเป็นวันเปิดสมัยประชุมสมัยที่สองของปีตลอดไปจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นอายุหรือครบวาระ

9.พระราชบัญญัติ (Act) / พ.ร.บ.

หมายถึง กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ โดยผ่านความเห็นชอบตามกระบวนการนิติบัญญัติ เริ่มด้วยการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภาเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับจนผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา

พระราชบัญญัติมี 2 รูปแบบ คือ พระราชบัญญัติที่ตราขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม

10.วิป (Whip)

หมายถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทำหน้าที่ควบคุมการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในพรรคการเมืองที่จะติดต่อเชื่อมโยงบรรดาสมาชิกในการทำหน้าที่อย่างเป็นเอกภาพเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนเสียงและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างพรรคการเมือง เพื่อให้การดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไปอย่างราบรื่น

วิป ทำหน้าที่ในรูปแบบคณะกรรมการประสานงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร (วิปร่วม) คณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (วิปฝ่ายค้าน) คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

11.รัฐธรรมนูญ (Constitutional)

หมายถึง กฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกติกาสูงสุดในการปกครอง ซึ่งกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่และบทบาทของบุคคลต่าง ๆ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าประเทศมีการปกครองแบบนิติรัฐ คือ เป็นการปกครองโดยกฎหมาย และในบรรดากฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับพลเมือง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหนึ่งเดียวซึ่งกฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งไม่ได้