จากกรณีข่าวเหตุการณ์ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ภูหินกอง จ.หนองบัวลำภู กิโยติน (ตัดคอตัวเอง) อ้างถวายเป็นพุทธบูชา ในบทความนี้ ขอนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับเรื่อง กิโยติน ว่าคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
ที่มา กิโยติน เครื่องประหารชีวิตโบราณ
กิโยตีน หรือ ภาษาฝรั่งเศสคือ guillotine ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อใช้ตัดคอนักโทษ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกที่ใช้การประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ทั้งนี้ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงมักถูกตัดคอโดยดาบหรือขวาน ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปจะถูกแขวนคอ หรือวิธีการประหลาดต่าง ๆ ในช่วงของยุคกลาง (เช่น ถูกเผาหรือมัดกับล้อไม้) ในการตัดคอ มีหลายครั้งที่ตัดคอไม่สำเร็จในดาบแรก ทำให้เกิดความทรมานต่อผู้ถูกประหารชีวิต การใช้กิโยตีนจะทำให้ผู้ถูกประหารชีวิตเจ็บปวดน้อยที่สุด ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนอย่างน้อย 20,000 คน โดยการประหารด้วยกิโยตีนถือเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปเช่นกัน
ผู้คิดค้นการทำงานของเครื่องกิโยตีน
นายแพทย์อ็องตวน หลุยส์ สมาชิกสมาคมศัลยศาสตร์ (Académie Chirurgical) เป็นบุคคลที่คิดค้นการทำงานของเครื่องกิโยตีน โดยเครื่องกิโยตีนตอนแรกได้ใช้ชื่อว่า ลูยซง (Louison) หรือลูยแซ็ต (Louisette) แต่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กิโยตีน” ตามชื่อของ ดร.โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง แพทย์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เสนอแนะการประหารชีวิตโดยการตัดคอ ภายหลัง ดร.กิโยตีน ได้เปลี่ยนนามสกุล เนื่องจากไม่ต้องการใช้ชื่อสกุลเป็นคำเดียวกับวิธีการประหารชีวิต
วิธีใช้ กิโยติน
วัสดุประกอบโครงในตอนนั้นทำจากไม้ซึ่งจะใช้แขวนใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมู น้ำหนักประมาณ 40 กก. โดยใบมีดจะถูกแขวนไว้ในส่วนบนสุด ซึ่งภายใต้ใบมีดจะเป็นส่วนที่ให้ผู้ถูกลงโทษวางศีรษะลงไป เมื่อเชือกถูกปล่อยหรือตัดลง ใบมีดที่หนักจะหล่นลงไม้ในระยะทางประมาณ 2.3 เมตร และตัดศีรษะผู้ถูกประหาร
โจรคนแรกที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน
นายนีกอลา ฌัก แปลตีแย (Nicolas J. Pelletier) โจรปล้นสัญจรถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนเป็นคนแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1792 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 สหราชอาณาจักร มีเครื่องลงโทษลักษณะที่คล้ายกันชื่อกรงเหล็กตะแลงแกง และมีเครื่องลงโทษลักษณะคล้ายกันในประเทศอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์
สิ้นสุด กิโยติน
กิโยตีนถือเป็นเครื่องประหารชนิดเดียวที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1881 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทวีปยุโรปได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีเยอรมนี นาซีได้นำเครื่องกิโยตีนมาใช้ในการประหารชีวิตผู้ที่ต่อต้านระบอบนาซีในเยอรมนี บุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนคือ ออยเกิน ไวด์มันน์ (Eugene Weidmann) ฆาตกรสังหาร 5 ศพชาวเยอรมัน โดยถูกตัดศีรษะเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1939 เวลา 16.32 น. ภายนอกคุกแซ็ง-ปีแยร์ (Saint-Pierre) ที่เมืองแวร์ซาย
กรณี พระธรรมกร กิโยตินที่ใช้เป็นเครื่องที่สร้างขึ้นมาเอง
ทั้งนี้จากกรณี พระธรรมกร หรือ นายธรรมกร อายุ 68 ปี เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ภูหินกอง จ.หนองบัวลำภู กิโยตีน (ตัดคอตัวเอง) อ้างถวายเป็นพุทธบูชานั้น กิโยตินที่ใช้เป็นเครื่องที่สร้างขึ้นมาเอง ในลักษณะเสาไม้ตั้งสูงสองเสา มีใบมีดใหญ่กว้าง 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร อยู่ตรงกลาง ส่วนด้าม 2 ด้าน ใช้ก้อนปูนซีเมนต์เทหล่อในถังพลาสติก จำนวน 2 ก้อน ผูกติดกับด้ามมีดข้างละก้อน มีเชือกดึงไว้เปิดกลไกให้ใบมีดตกลงมา โดยตรงจุดที่พระธรรมกรบั่นคอตัวเองมีรูปปั้นคล้ายกับพระอินทร์ไม่มีศีรษะ ส่วนมือทั้งสองได้ถือศีรษะคล้ายกับโดนตัดไว้ในมือด้วย
โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ญาติพี่น้องของพระธรรมกรไม่ติดใจสาเหตุการตายแต่อย่างใด เนื่องจากก่อนหน้าพระธรรมกรได้คำมั่นว่า หากครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 15 เม.ย. 2564 จะสักการะบูชาพระพุทธเจ้าโดยการตัดศีรษะของตนเอง เพื่อที่ตนจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า