การอ่านหมายเลขทางหลวง ซึ่งเวลาที่ต้องเดินทางบนถนน จะต้องเห็นผ่านตากันอยู่แล้ว มีทั้งเลขหนึ่งหลัก สองหลัก ไปจนถึงสี่หลัก แต่ละเลขนั้นมีความหมายอยู่นะคะ จะหมายถึงอะไรบ้างไปอ่านเป็นเกร็ดความรู้รอบตัวกันไว้ได้เลย
การอ่านหมายเลขทางหลวง เลขแต่ละหลักมีความหมาย
ความหมายของทางหลวง
ทางหลวง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549) หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้ดินหรือเหนือพื้นดินหรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟ ทางหลวง ยังหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย
เดิมทีทางหลวงสายสำคัญใช้ชื่อสกุลของบุคคลสำคัญ
แต่เดิมทีทางหลวงสายสำคัญ ปกติใช้ชื่อสกุลของบุคคลที่มีความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับทางสายนั้น ๆ เช่น เป็นผู้บุกเบิก ผู้ก่อสร้าง มาตั้งเป็นชื่อถนน แต่เมื่อมีการสร้างทางมากขึ้น การใช้ชื่อสกุลมีความยุ่งยากและสับสน ทั้งไม่สามารถทราบได้ว่าทางสายนั้นอยู่ทางบริเวณภาคใดของประเทศ จึงได้มีการนำระบบหมายเลขมาใช้กำกับทางหลวงต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทางหลวง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงสัมปทาน และทางหลวงพิเศษ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
เลขทางหลวง ที่มีเลขหนึ่งตัว
หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ หรือ ถนนพหลโยธิน เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคเหนือ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือ ถนนมิตรภาพ เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งต้นที่จังหวัดสระบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ หรือ ถนนสุขุมวิท เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่จังหวัดทางภาคกลางรวมถึงชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงราย
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจันทบุรี
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ เป็นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
- ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ
เลขทางหลวง ที่มีเลขสองตัว
คือ ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษที่เป็นสายประธานตามภาคต่าง ๆ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายประธานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายอุดรธานี-นครพนม ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕๑ หมายถึง ทางหลวงซึ่งเชื่อมต่อจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี
เลขทางหลวง ที่มีเลขสามตัว
คือ ทางหลวงแผ่นดินสายรอง เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๐๒ หมายถึง ทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สายชัยภูมิ-เขมราฐ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๔ หมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองในภาคกลางสายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา
เลขทางหลวง ที่มีเลขสี่ตัว
คือ ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น เช่น ทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๖ หมายถึง ทางหลวงในภาคใต้สายแยกทางหลวงหมายเลข ๔ (ราชกรูด-หลังสวน)
วิธีอ่าน หมายเลขทางหลวง อ่านเรียงตัว ดังนี้
- หมายเลขทางหลวง ๕๕ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง-ห้า-ห้า
- หมายเลขทางหลวง ๒๓๔ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง-สอง-สาม-สี่
- หมายเลขทางหลวง ๑๓๙๕ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง-หนึ่ง-สาม-เก้า-ห้า
อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ภาพตัวเลข : th.wikipedia: Watcharakorn,